วิธีตรวจสอบแบงก์พันรุ่นใหม่ (๑,๐๐๐ บาท) แยกระหว่างแบงก์จริง-แบงก์ปลอม

หลังจากที่มีข่าวว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทย จะนำแบงก์พันแบบใหม่ เฉลิมพระเกียรติ ร.5 ออกใช้ทดแทนแบบเก่า โดยเริ่มนำออกมาใช้วันแรกในวันที่ 21 สิงหาคม 2558 หลายคนอาจจะกังวลใจว่า แบงก์พันรุ่นใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? จะแยกแบงก์จริง-แบงก์ปลอมของแบงก์พันรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง วันนี้ Zcooby เลยอยากจะเอาข้อมูลที่น่าสนใจมาแนะนำครับ

โดยธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาทแบบใหม่ นับเป็นแบบที่ 16 เป็นธนบัตรชนิดราคาสุดท้ายที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบที่ 16 จากก่อนหน้าที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบธนบัตรชนิดราคา 20 บาท 50 บาท 100 บาท และ 500 บาทไปก่อนหน้านี้ และการเปลี่ยนครั้งนี้ยังเพื่อทดแทนธนบัตรเก่าราคา 1,000 บาทแบบที่ 15 ที่ใช้มานานถึง 10 ปี

ลักษณะ,รูปร่างหน้าตา,ขนาดแบงก์พันใหม่

ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาทแบบใหม่ จะมีขนาดกว้าง 72 มิลลิเมตร ยาว 162 มิลลิเมตร สีโดยรวมเป็นสีน้ำตาล เช่นเดียวกับธนบัตรรุ่นเดิม (แบบที่ 15)

แบงก์พันรุ่นใหม่ ของแท้

แบงก์พันรุ่นใหม่ ของปลอม

วิธีการตรวจสอบลักษณะแบงก์พันรุ่นใหม่ ของจริง-ของปลอม

โดยแบงก์พันรุ่นใหม่นี้จะมีลักษณะพิเศษที่ต่อต้านการปลอมแปลงที่สำคัญคือ

 

1. มีลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และตัวเลขไทย ๑๐๐๐ จะมีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นชัดทั้ง 2 ด้าน เมื่อยกขึ้นส่องแสงสว่าง

2. หมึกพิมพ์พิเศษสลับสีพร้อมตัวเลขแฝง เป็นลายประดิษฐ์สีทองจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อพลิกธนบัตร และภายในมีตัวเลข ๑๐๐๐ ซ่อนอยู่

3. มีหมึกพิมพ์พิเศษเหลือบแดง ในตัวเลข 1000 สลับกับลายประดิษฐ์ในแนวตั้ง เป็นสีเหลือบแดง

4. แถบฟรอยด์ 3 มิติ ผนึกไว้ตามแนวตั้งในแถบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 จะเปลี่ยนเป็นสีสะท้อนแสงวาววับเมื่อพลิกธนบัตรไปมา ภายในตราสัญลักษณ์มีตัวเลข 1000 เมื่อพลิกเอียงจะมีตัวเลข ๑๐๐๐

5. แถบ สี่เหลี่ยมเคลื่อนไหวสลับสี ฝังในเนื้อกระดาษ มีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ หากพลิกธนบัตรขึ้นลง จะเห็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กม่วงแดงเคลื่อนไหวอยู่ และจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อเปลี่ยนมุมมอง และ

6. สัญลักษณ์สำหรับผู้บกพร่องทางสายตาจะมีเส้นนูนแนวนอนเรียงลดหลั่นกัน นำสู่สัญลักษณ์อักษรเบรลล์ ที่พิมพ์นูนเป็นเลขดอกไม้ 4 ดอก แทนอักษร T ที่ย่อมาจากคำว่า Thousand

**********************************************

สำหรับผู้ที่มีแบงก์พันรุ่นเก่า (แบบที่ 15) ก็ไม่ต้องกังวลใจไปนะครับ คุณยังสามารถใช้ได้ตามปกติ โดยสถาบันการเงินจะค่อยๆ ทยอยเก็บส่งคืนในส่วนที่ชำรุดและคาดว่าธนบัตรแบบที่ 16 จะสามารถทดแทนแบบที่ 15 ได้ทั้งหมดภายใน 1-2 ปี

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.