งานในหนังเรื่อง “ฟรีแลนซ์” มีจริงหรือไม่? อาชีพของ”ยุ่น”และ”เจ๋”เรียกว่าอะไร?

สำหรับผู้ที่ทราบข่าวคราวหรือได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” จาก GTH อาจจะได้เห็นถึงการเล่าเรื่องผ่านทางตัวเอกที่ชื่อว่า “ยุ่น” (นำแสดงโดย ซันนี่) แล้วอาจจะสงสัยว่า ไอ้งานที่ต้องทำจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาว่างเลยนั้น มันมีจริงๆ หรือไม่? เป็นธุรกิจเกี่ยวกับอะไร? แล้วอาชีพของ”ยุ่น”และ”เจ๋”เรียกว่าอะไร? วันนี้Zcooby หาคำตอบของคำถามเหล่านั้นมาแจ้งให้ทราบแล้วนะครับ

โดยในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้มีผู้ใช้งานที่ใช้ชื่อว่า “หมาสายตาสั้น” ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียดของงานประเภทนนี้ รวมถึงภาพรวมของวงการโฆษณาได้อย่างเข้าใจง่ายและเห็นภาพได้มากขึ้น (บางส่วนอาจจะมีการสปอยล์เนื้อหาภาพยนตร์นิดหน่อยนะครับ) อยากให้คุณได้อ่าน แล้วจะเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้มากขึ้นครับ

ปล. เพื่อให้อ่านเนื้อหาต่อไปนี้อย่างเข้าใจมากขึ้น ขออนุญาตเพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนให้ทราบนะครับ

  • อาชีพของ “ยุ่น” (ซันนี่) คือ รีทัชเชอร์ (Retoucher) ทำหน้าที่ตกแต่งภาพโดยใช้โปรแกรม Photoshop
  • อาชีพของ “เจ๋” (วี วิโอเลต) คือ Producer Agency หรือ Print Produce หน้าที่คือควบคุมการผลิต (ซึ่งผู้เขียนกระทู้นี้ใน panntip.com เคยทำอาชีพนี้ครับ)

กระทู้ “จากหนังฟรีแลนซ์ แฉเบื้องหลัง เบื่องลึกของอาชีพของยุ่นและเจ๋ ว่าโหดหินแบบในหนังจริงหรือ??”

ที่มา : เขียนโดยคุณ “หมาสายตาสั้น” : http://pantip.com/topic/34153195

มารู้จักกับอาชีพของยุ่นกันจากที่ได้ไปดูหนังฟรีแลนซ์ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟรีแลยซ์ในสายโฆษณา ซึ่งตรงกับอาชีพที่เคยทำอยู่ เลยคิดอยากจะแชร์ชีวิตของ รีทัชเชอร์ ให้คนที่ไม่เคยรู้จักได้ทราบกันว่ามันโหดจริงหรือ หนักหนาขนาดในหนังเลยหรือเปล่า คนแบบยุ่นมีจริงๆเหรอ คนแบบ เจ๋ หรือพี่เป้งมีจริงๆนะหรือ วงการโฆษณาเป็นแบบในหนังไหม ม๊ะ..ตามมาเลยครับ จะเล่าให้ฟัง

แล้วเอ็งเป็นใครฟะ ถึงจะมาเขียนเรื่องนี้

บางท่านอาจจะสงสัยแฮ่..อาชีพผม(เมื่อก่อน)เป็นแบบเจ๋ในเรื่องครับ Producer Agency หรือ Print Producer หน้าที่คือควบคุมการผลิต ก็เริ่มจากที่ทีมครีเอทีฟไปขายเลย์เอาท์จนลูกค้าหลงกลซื้อแล้ว ก็เป็นงานส่วนของผมที่ต้องทำให้เป็นภาพจริงๆ เพื่อลงสื่อโฆษณาต่างๆครับ

แต่จะให้ทำเองเหรอครับ ไม่ครับ เราไม่ทำเอง จริงๆทำไม่เป็นครับ แต่ต้องรู้ว่างานนี้จะทำยังไงใครทำถึงจะดี ช่างภาพควรเป็นใคร ถ่ายยังไง ส่งให้ใครรีทัช ประมาณนี้แหละครับหลังจากได้เลย์เอาท์แล้วคุยกันจนเข้าใจกันดีแล้ว ก็จะหาช่างภาพ ให้ถ่ายรูปให้ (ซึ่งตรงนี้มีขั้นตอนเยอะแยะนะครับขอไม่เล่าละเอียด เดี๋ยวจะกลายเป็นตำราโฆษณาไป)

เอาเป็นว่าพอถ่ายเสร็จ บีบคอให้ลูกค้าเลือกรูปแล้ว ก็ส่งให้ยุ่นหรือ Retoucher ทำงาน จะส่งทางอัพโหลดไฟล์ หรือถ้าไฟล์ใหญ่มากก็พึ่งพี่สุชาติแบบในเรื่องละครับ เอางานใส่ External ขี่มอไซไปส่ง

แล้วRetoucher ทำอะไรละ??

ตอบง่ายๆก็ตกแต่งภาพด้วย โปรแกรม Photoshop ครับ(สมัยไม่มีคอมใช้แอร์บรัช คัตเตอร์ ดินสอสี ทำบนรูปแล้วถ่ายเป็นฟิลม์อีกครั้ง)

งานหลักๆของรีทัชเชอร์แบบยุ่น จะแบ่งเป็นสองส่วนครับ

1. Touch up ตกแต่งให้ดูดี เก็บสิว รอยย่น เสื้อยับ ผมชี้ เล็บดำ ฟันเก ฟันห่าง อัพไซส์นมหรืออะไรที่ หลุดตอนถ่ายเราต้องจัดการให้ดูดี ส่วนนี้ที่เสียเวลามากคือเกลี่ยรูขุมขนครับ นางแบบหน้าเนียนแค่ไหน พอมาซูมดูลูกค้าสะดุ้งทุกราย

แต่ที่น่าสยดสยองคือ ใต้วงแขนครับ นึกภาพจักกะแร้นางแบบ ซูมเต็มจอ24นิ้ว แล้วคุณต้องนั่งลบขนที่ละเส้นนะครับ นับเป็นขั้นตอนที่ไม่มีใครอยากทำ เลิกกินหนังไก่กันไปหลายรายละครับแต่งเสร็จก็ปรับสีให้สวยงาม

2. งาน Compost หรือตัดต่อ หลายครั้งที่ตอนถ่าย แล้วเลือกรูปกัน ลูกค้าชอบหัวรูปหนึ่ง แขนรูปนึง ขารูปนึง ปอยผมจากอีกรูป(มีจริงๆนะครับ เยอะด้วย) แถมด้วยฉากหลังอีกรูป เพราะในเลย์เอาท์เป็นอิตาลี แต่ไม่มีตังค์บินไปถ่าย ก็ถ่ายมันสตูแถวเหม่งจ๋ายแหละครับ แล้วไปรีทัชกับสต๊อคโฟโต้อิตาลี จัดแสงจัดมุมให้เหมือนกันซะ จากนั้นก็หน้าที่พี่ยุ่นจะต้องเอามารวมกันในรูปเดียวละครับ

ส่วนอีกแบบก็ตามในหนัง ที่เป็นแอดของอาดิดาส คือการรวมรูปที่ต่างกันสองรูปมาเป็นรูปเดียวกันให้เนียนที่สุดในหนังจะเป็นนักกีฬา ที่มีรอยแตกที่ผิว ก็ต้องพึ่งฝีมือและประสพการณ์ของรีทัชเชอร์ละครับที่จะทำออกมาเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า บ้านเราเคยเป็นศูนย์รวมของงานประเภทรีทัชผมและงานแต่งผิว สำหรับสินค้าประเภทแชมพูและเครื่องสำอางในเอเชียเราถือเป็นเบอร์หนึ่งเลยนะครับ มีเอเจนซี่ต่างชาติส่งงานให้เราทำเยอะมาก รวมถึงงานคอมโพสต์เองก็ไปกวาดรางวัลระดับโลกมามากมายจนฝรั่งทึ่ง

ในฉากที่ยุ่นไปรับเช็คแล้วคุยกับพี่เป้ง ด้านหลังจะเห็นตู้โชว์รางวัล อันนั้นของจริงนะครับ ถ้วยรางวัลจริงๆ และเอเจนซี่นี้เคยติดอันดับท๊อป5ของโลกด้วยในสายงานโฆษณา ไม่มีใครไม่รู้จักประเทศไทยครับ

ล่าสุดบริษัทบริษัทสัญชาติไทยครอง Ranking อันดับหนึ่งในหมวด Illustrator อันดับหนึ่งในโลกนะครับ น่าปลื้มใจ

ว่าด้วยงานด่วนรีทัชเชอร์กับงานด่วน

ด้วยความที่ในขั้นตอนการทำงาน การรีทัชภาพจะเป็นขั้นตอนท้ายๆ ดังนั้นจะมีเวลาในการทำงานน้อยจนถึงน้อยที่สุดงานด่วนเวลาน้อยจึงเป็นของคู่กัน

ดังนั้นการจัดสรรเวลาจึงสำคัญมากนะครับ ได้งานมาต้องคำนวนกันเป็นขั้นตอนเลยว่า ไดคัทกี่นาที เก็บผิวกี่นาที แต่งผมกี่นาที ในแต่ละชิ้นงานมีกี่ขั้นตอนจะต้องคำนวนว่าแต่ละขั้นมีเวลาทำเท่าไร ดังนั้นที่ยุ่นบ่นที่เสียเวลาที่โรงพยาบาลก็ถูกต้องละครับ

รีทัชเชอร์กับงานด่วนมาก

เหนือกว่างานด่วนก็มีงานด่วนมากครับ อันนี้จะอยู่ที่พลังของโปรดิวเซอร์แบบเจ๋ที่จะตะล่อมให้รับงานแล้วละ เพราะไม่ค่อยมีใครอยากทำเท่าไหร่ เพราะมันเสี่ยงกับการทำงานหลุด แต่ก็ต้องทนทำกันไปเพราะเป็นเจ้าประจำ ทำกันมานาน ประเภททำงานนึงช่วงพักก็บรีฟอีกงานต่อกันเลย

งานระดับนี้หมายถึง การอดหลับอดนอนลากกันยาวจนวันพรีเซนต์ละครับ ผมคิดว่าส่วนใหญ่งานยุ่นจะอยู่ในหมวดนี้นะ คือรีทัชเชอร์จะมีที่เป็นบริษัท กับฟรีแลนซ์นะครับ ถ้าเป็นบริษัทจะพอมีอำนาจต่อรองในการเลือกรับงานได้บ้าง จริงๆฟรีแลนซ์ก็ต่อรองได้นะครับ ไม่รับงานได้ แต่ส่วนใหญ่เสียดายกันเลยต้องรับ

รีทัชเชอร์กับงานด่วนนรก

ขั้นนี้รับบรีฟไปก็ด่าแม่กันในใจไปด้วยละครับ และมักจะเป็นงานที่เยอะ ยาก และโหด และมีความสำคัญมากๆ ตอนโทรไปนี้ไม่เรียกว่าบรีฟงานนะครับ เรียกว่าขอความช่วยเหลือกันดีกว่า มาขั้นนี้ทุกคนก็จะมารวมกันที่บ้านรีทัชเชอร์ละครับ นั่งเฝ้ากันเลยดูกันทุกเม็ดว่าโอเคไหม ตรงหรือเปล่า

แต่ในหนังขาดครีเอทีฟจูเนียร์ที่จะต้องไปเฝ้าจอกับโปรดิวเซอร์ด้วยกันนะครับ แต่คิดเข้าข้างหนังก็อาจจะเป็นงานที่ระดับซีเนียร์หรือครีเอทีฟไดเรคเตอร์ดูเองเพราะเด็กอื่นติดงานอื่น ก็มีบ่อยๆครับ

ขั้นตอนดูงานนี้เราเรียกกันว่า On Screen นะครับ แต่สำหรับฟรีแลนซ์มักจะใช้วิธีส่งเมลแล้วโทรแก้งานกัน เหมือนในเรื่องที่ยุ่นรับโทรศัพท์ไปในระหว่างตรวจที่โรงบาลเอกชน แต่ถ้างานสำคัญมาก ด่วนมากโทรไปมาไม่ทันก็แบกทุกอย่างไปที่เอเจนซี่แบบในหนังแหละครับ ดูแล้วไม่ชอบตรงไหนก็แก้กันสดๆ ตรงนั้นเลยสุดท้ายละ

รีทัชเชอร์กับงานมิชชั่นอิมพอสซิเบิล

เหนือฟ้ายังมีฟ้าครับ ขั้นสูงสุดคือทำไม่ทันแน่ๆ แต่ต้องเสร็จ ประเภทเดียวกับงานพี่เป้งในท้ายเรื่อง ที่ต้องใช้เวลาสองเดือน แต่มีเวลาสองอาทิตย์แต่จริงๆไม่มีใครรับงานหรอกครับเพราะคำนวนแล้วทำไม่ทันแน่นอน เจ๋ถึงโทรมาด่าไง แต่ที่รับเพราะอยากประชดชีวิต รวมถึงกู้หน้าที่โดนเด็กรับงานที่ตัวเองทำพลาดไป

แต่ชีวิตจริงๆแล้ว งานแบบนี้ไม่ใช่งานของฟรีแลนซ์หรอกครับ จะเป็นงานของบริษัทรีทัช และต้องกราบกรานให้ช่วยทำกันเลย ไม่งั้นตายหมู่ยกเอเจนซี่แน่นอน งานระดับนี้ต้องใช้คนหลายๆคนช่วยกันทำ แบ่งงานเป็นส่วนๆ แล้วมาประกอบในตอนท้าย เรียกว่าปั่นกันมือเป็นระวิง อดนอนกันเป็นหมู่คณะ ส่งงานทีปิดออฟฟิศนอนกันเลยทีเดียว(ถ้าไม่มีงานด่วนมาอีกนะ)

งานสเกลนี้ ต้องรวมมือร่วมใจกันทุกฝ่ายถึงจบงานได้ครับ ลูกค้าต้องเข้าใจ ไม่เยอะ เออีช่วยประสาน โปรดิวเซอร์คุมเวลาทุกขั้นตอนครีเอทีพต้องเข้าใจโลก ไม่มีอีโก้ เอางานเสร็จเป็นหลัก ที่สำคัญ ต้องมีตังค์ครับ ^ ^

งานแบบนี้มีนานๆทีพอกระตุ้นหัวใจ และสูบพลังชีวิตให้ชีวิตสั้นลงอีกนิด มีไม่บ่อยครับ ส่วนใหญ่ก็สินค้าที่แข่งกันสูงมากๆประเภทออกโปรตัดหน้าคู่แข่ง หรือองค์กรใหญ่มาก แล้วโดนด่าในที่ประชุมว่าทำไมไม่มีงานแบบนี้ๆ โดนด่ามาคุณลูกน้องก็เต้นซิครับ..กรรมก็มาสู่เอเจนซี่ละครับ

Edit เพิ่มเติม งานระดับมิชชั่นอิมพอสซิเบิลที่เคยทำแล้วด่วนที่สุดของผม บรีฟ สิบโมงเช้า งานเป็นถ่ายรูปและรีทัชเออีบอก บ่ายสองไทยรัฐจะมารับอาร์ตเวิร์ค ด่าพ่อล่อแม่กันจนเลื่อนได้เป็น สี่โมงเย็น -..-”

ตอนพี่สุชาติ(แมสเซนเจอร์ไทยรัฐ) เดินเข้ามานี้ทุกคนเย็นหลังวาบ เหมือนโดดเรียนแล้วเจออาจารย์ปกครองเลยครับอารมณ์เหมือนผีมาทวงวิญญานยังไงยังงั้นแต่ดันทำให้เค้าทันด้วยไง จบงานนั้นเรียกว่าชีวิตสั้นไปหลายเดือนเลย


รายได้ของรีทัชเชอร์

จริงๆแล้วรีทัชเชอร์รายได้ถือว่าดีเลยนะครับ ยิ่งในสายโฆษณาด้วยแล้ว เงินดีเลยละ ระดับมือหนึ่งของวงการ ไม่มีงานไหนได้แค่ 7000 แน่ๆละครับตรงนี้เป็นจุดที่ไม่ค่อยสมจริงเท่าไรสำหรับผม งานสกิน แนวแฟชั่นแบบในช่วงแรกของหนัง ระดับหลักหมื่นอัพแน่ๆ

ดูจากปฏิทินของยุ่นแล้วรายได้ต่อเดือนเกินแสนแน่ๆครับ งานสายโฆษณากล้าใช้เงินซื้อคุณภาพครับ ถ้าคุณงานดีเงินคุณดีแน่นอน


รายจ่ายของรีทัชเชอร์

หลักๆที่ต้องจ่ายก็ เคร่องมือทำมาหากินแหละครับ สเปกคอมต้องดีที่สุดเทาที่งบมี จอต้องดี CPU ตัวท๊อป อัดแรมเต็ม เรียกว่าโมกันเต็มครับแถมต้องคอยอัพเกรดกันบ่อยๆด้วย เฉลี่ยทุกปีครึ่ง จะต้องเสียเงินหมื่นปลายๆ ถึงแสนหน่อยๆ

เท่าที่เจอมา รายจ่ายของรีทัชเชอร์ไม่ใช่เรื่องกินครับ เป็นพวกกินง่ายอยู่ง่าย มีอะไรก็กินๆเข้าไป ให้อิ่มๆแล้วจะได้ทำงานต่อ

หลักๆค่าใช้จ่ายที่จ่ายเยอะจะหมดไปกับของเล่นครับ พวก พลาสติกโมเดล หุ่นเรซิน หรือของเล่นต่างๆ กล้องโลโม่ ปืน BB Gun หรือพวกแกตเจ็ตต่างๆ จะเป็นของที่เจอได้บนโต๊ะทำงานของรีทัชเชอร์ส่วนใหญ่ โต๊ะโล่งๆแบบยุ่นไม่ค่อยเจอครับ แต่อาจจะเป็นความตั้งใจที่จะบอกว่ายุ่นสนใจแต่งานจริงๆจนไม่มีชีวิตส่วนตัวเลยก็เป็นได้

อีกรายจ่ายหลักของรีทัชเชอร์ที่คนคิดไม่ถึงคือค่า ที่นอน หมอน และเก้าอี้ รีทัชมือต้นๆของบ้านเราเท่าที่ผมเจอ จะหมดไปกับของสามสิ่งนี้เยอะมาก เพราะนั่งนิ่งๆทำงานเกินวันละแปดชั่วโมง หลัง ไหล คอ เรียกว่าแข็งเป็นหินกันละครับหมอรุ่นไหนนอนสบาย เก้าอี้รุ่นไหนนั่งแล้วไม่ปวดหลัง หมอจับเส้น จัดกระดูกที่ไหนเก่ง ฝังเข็มเจ๋งๆที่ไหน ลองถามเค้าดูครับ มีคำตอบให้แน่ๆ

อันนี้รวมอาชีพกราฟฟิกดีไซน์ด้วยนะครับ ยิ่งฟรีแลนซ์งานเยอะๆละก็ ข้อมูลเพียบ บางที่ส่งงานเสร็จแต่งตัวพุ่งไปนวดแผนโบราณก็เจอบ่อยๆ เที่ยวต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ยิ่งใหญ่ประมาณไปขั้วโลกเหนือละครับ วางแผนเคลียร์งานกันเป็นครึ่งปี และบ่อยครั้งที่ล้มกันซะงั้นเพราะงานใหญ่เข้า และถึงจะได้ไปก็ไม่ใช้ชิลๆนะครับ บ่อยครั้งที่เซฟไฟล์ ปิดคอม แล้วคว้ากระเป๋าพุ่งตัวไปสนามบิน ไปนั่งลุ้นจะตกเครื่องกันบนแท๊กซี่อีกต่อ


ขายงานลูกค้า ยากแค่ไหน คอมเมนท์แบบในเรื่องมีจริงเหรอ??

ปกติลูกค้าของรีทัชเชอร์ในงานหนึ่งจะมีสองกลุ่มนะครับ คือลูกค้าเอเจนซี่ และลูกค้าโปรดักซ์การขายงานก็เหมือนมีสองบอสให้ต้องจัดการแหละครับ หลายๆครั้งงานที่นั่งแก้กับเอเจนซี่จนก้นกบระบมพอมาถึงลูกค้าดู ก็โดนแก้ซ้ำ แก้ไปแก้มากลายเป็นคล้ายๆก่อนเอเจนซี่แก้ก็มีครับ ก็ได้แต่ด่าแม่กันในใจเบาๆแต่ปากยิ้ม และมือทำงานไปด้วยแต่สำหรับฟรีแลนซ์อย่างยุ่น ปกติจะใช้ส่งเมลดูแล้วโทรบรีฟแก้ไขกัน หรือไม่ก็ส่งเมลบอกกล่าวกันซึ่งรีทัชเชอร์ก็ต้องแสตนบายอยู่ไม่ไกลจากคอมเรียกว่าบรีฟปุ๊บทำปั๊บ แล้วส่งงานกันเลย ช่วงต้นเรื่องจะเห็นว่ายุ่นสายเข้าตลอดและเรื่องที่คุยจะเป็นการแก้งานทั้งสิ้น

แต่ในต้นเรื่องจะมีฉากที่แบกคอมไปขายงานถึงที่ แสดงว่างานด่วนจริง แต่ก็จะมีมนุษย์บางจำพวกที่ดูเหมือนจะไม่เข้าใจคำว่าด่วน เหมือนคุณเจ๊ครีเอทีฟคนนั้น คนที่บรีฟแก้ไขว่า “ยังดูไม่แพง” บรีฟนามธรรมแบบนี้ คนทำงานปวดตับครับ ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้นและความเก๋ารวมถึงกึ๋นของรีทัชเชอร์ ที่จะแก้งานให้แพงสมใจคุณเธอ ฉากนี้ทำได้ดีมากครับ บรรยากาศสมจริงจนผมหลอนเลยละ

คอมเมนท์แบบปวดตับมีเยอะครับ บ้างก็เพราะความไม่รู้ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ เช่นถ่ายนางแบบหน้าตรงมา

จะให้รีทัชให้หันด้านข้าง 45 องศา อันนี้ทำไม่ได้นะครับเกินความสามารถของโปรแกรมที่เป็น 2D อธิบายให้ฟังก็หาว่าคนทำรีทัชไม่เก่ง ช่วยกันอธิบายไปจนดูเหมือนจะเข้าใจแล้ว ยอมแล้วยังมีขอหันนิดเดียวก็ยังดี ฟังแล้วอยากทึ้งผมแล้ววิ่งไปกรี๊ดในโอ่ง หรือเลือกถ่ายนายแบบลูกครึ่งมาแล้วเปลี่ยนใจกลางอากาศ จะรีทัชให้ดูเป็นไทยแท้ อันนี้ก็ไม่ไหวนะครับ สุดปัญญาที่จะทำให้ได้จริงๆ แต่อะไรที่ทำให้ได้พวกเราเต็มที่อยู่แล้วครับ ขอหยุดการเมาท์ลูกค้าไว้เท่านี้นะครับ

เดดไลน์ ความเป็นความตายของรีทัชเชอร์

เนื่องจากเป็นขั้นตอนสุดท้ายของงานเพื่อส่งเข้าโรงพิมพ์จึงเรียกได้ว่าห้ามเลทเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นShip หายแน่ๆ สังเกตว่า ยุ่นจะเกลียดคำว่าเลทมากและจะเถียงกับเจ๋ตลอด ว่าเลทหรือไม่เลท แต่มืออาชีพถ้ารับงานแล้วบอกวันไหนคือวันนั้นครับตามปกติแล้วทั้งเออีและโปรดิวเซอร์จะมีเวลาเผื่อไว้กันพลาดนิดหน่อย คือถ้าไม่ทันก็จะโทรเลื่อนกับโรงพิมพ์ได้บ้าง แต่ไม่นานนะครับ และอาจจะต้องแลกด้วยการไม่ได้ดูปรูฟ หรือต้องไปดูหน้าแท่นพิมพ์

ในหนังจะเห็นฉากหนึ่งที่เจ๋จะโทรไปเลื่อนแต่ยุ่นไม่ยอม และก็ทำจนทันอันนี้คืออีกจุดที่ทำให้ภาพมือหนึ่งในวงการของยุ่นชัดเจน คืองานด่วนแค่ไหนเสร็จตามกำหนดเสมอ และงานดีด้วยแต่มันจะมีบางงานนะครับที่ด่วนมากขนาดเลื่อนไม่ได้เลย เลทนิดเดียวก็ไม่ได้ ไม่งั้นหนังสือเค้าออกไม่ทัน และเค้าไม่รอด้วยนะครับ

คิวโรงพิมพ์หลุดนี้คือหายนะ มูลค่าความเสียหายหลักหลายๆแสนถึงหลักล้าน เอาง่ายๆว่า ค่าโฆษณาสี่สีเต็มหน้าของหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับ ก็ถอยรถเก๋งป้ายแดงได้คันนึงแล้ว และถ้าเป็นงานพิมพ์อื่นๆที่มีกำหนดต้องใช้ ด้วยจำนวนพิมพ์ หมายถึงความเสียหายหลักล้านบาท ไม่นับความเชื่อถือของลูกค้าต่อเอเจนซี่อีก ถ้าแอคเคาท์หลุด(ลูกค้าเปลี่ยนเอเจนซี่) เงินที่หายไปจะเป็นหลายสิบล้านหรืออาจถึงหลายร้อยล้าน

เราจะเห็นว่าเจ๋จะซีเรียสเรื่องนี้มาก และเมื่อเห็นท่าว่ายุ่นจะทำไม่ทันเลยโทรหาเจิดทันทีฉากนี้หลายคนอาจจะมองว่าเจ๋ไม่มีน้ำใจ แต่มันคือการทำงานแบบมืออาชีพครับ(แต่เจ๋ก็ใจอ่อนอยู่ดี)

งานหลุด ฝันร้ายของรีทัชเชอร์

ฉากหนึ่งที่ยุ่นเช็คงานก่อนส่งแล้วเห็นว่าเล็บนางแบบหัก อันนั้นคือความรอบคอบที่ดีของรีทัชเชอร์ แต่ก็เป็นมาตรฐานก่อนส่งงานนะครับแต่ด้วยชิ้นงานมันเล็ก และจะรีบนอนให้ทันเวลา จึงปล่อยผ่าน(แล้วมานอยด์ต่อ) แต่เจ๋ก็เห็นและส่งให้เจิดแก้ไขเพราะติดต่อยุ่นไม่ได้ อันนี้ไม่สมจริงอยู่บ้าง เพราะแก้จริงๆ ไม่เกินห้านาทีก็เสร็จครับ ให้คนทำอาร์ตเวิร์คทำยังได้เลยไม่จำเป็นต้องถึงมือเจิดหรอกครับ ซึ่งในการทำงานจริงๆแล้วโอกาสหลุดน้อยครับ น้อยมากงานมันต้องผ่านตาคนหลายๆคน และ มักจะมีใครซักคนเจอก่อนพิมพ์ แต่นานๆที่คราวซวยๆพร้อมใจกันหลุดก็มีครับ ชดใช้กันหูตูบเลยละครับ

และยุ่นก็ทำแจคพอตแตกกับงานใหญ่เข้าจนได้ จากคอมเมนท์ที่ว่า งานมันยังดูเหมือนรีทัชอยู่ สำหรับมือหนึ่งอย่างยุ่นแล้ว ผมว่าเหมือนโดนตบหน้ากลางที่ประชุม และที่หลุดลืมลบมือคนที่ยกนางแบบ คือมีดที่แทงเข้าหัวใจ ก่อนจะฌาปนกิจเป็นเถ้าถ่านด้วยสไกป์จากเจ๋ที่บอกว่างานที่เหลือให้เจิดเป็นคนทำ

ฉากนี้ถ้าใครจะดูซ้ำสังเกตการแสดงของวีนะครับ จะเห็นว่ามันหลากหลายอารมณ์มาก ทั้งผิดหวังในตัวยุ่นเหมือนโดนทรยศ และที่สำคัญดันสนิทจนรู้ว่าไอ้ที่โทรมาบอกว่าไม่ต้องทำงานแล้วมันจะทำร้ายยุ่นแค่ไหนผมว่ามันคือการแสดงสุดยอดมากฉากนึงเลยสำหรับวีโอเลตเลยครับ

คนอย่างเจ๋ อย่างพี่เป้งมีในวงการจริงๆหรือเปล่า

มีครับ แต่ไม่ 100% นะ หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดงานสายโฆษณาได้ใกล้เคียงกับความจริงๆมากๆ อย่างเช่นเจ๋ ดูหนังแล้วผมเชื่อว่าเธอคือคนเอเจนซี่โฆษณาจริงๆ เต๋อทำงานละเอียดมากจริงๆครับ ใส่ใจจุดเล็กๆน้อยๆ แม้กระทั่งตอนจะดึงExternal HD ออกจากเครื่องเจ๋ยังถามยุ่นก่อนว่า “ดึงเลยนะ” เรียลมากๆครับเสื้อผ้า หน้าผม เป๊ะมาก คือต้องเรียบร้อยเพราะต้องเจอลูกค้า แต่ไม่เชย ต้องมีความเป็นแฟชั่น แต่คล่องตัว และยูนีค และกระเป๋าเหลืองใบนั้น อาจจะใหญ่เกินไปสำหรับProducer แต่ถ้าดูจากที่ต้องมีพี่สุชาติรับส่งตลอดก็เข้าใจได้ว่าทั้งหมดที่จำเป็นในชีวิต อยู่ในกระเป๋าวิเศษใบนั้น ประเภทไม่กลับบ้านได้สามวันเต็มอะไรแบบนั้น

พี่เป้ง ครีเอทีฟ ที่ยุ่นอยากร่วมงานด้วย หนังไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมาก แต่ดูแล้วน่าจะเป็นครีเอทีฟมือรางวัลประจำเอเจนซี่ชอบคาแรคเตอร์ที่สุภาพแต่ดูไม่จริงใจของเค้านะครับ ดูลึกดี แต่แววตาแอบมีความกรุ่มกริ่มเวลามองยุ่นอยู่ด้วย ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือเปล่าเสื้อผ้าเป๊ะจนคิดว่าไปยืมครีเอทีฟที่ไหนมาหรือเปล่า เอาจริงๆ ตอนดูครั้งแรกผมยังนึกว่าเต๋อไปเอาครีเอทีฟมาเล่นจริงๆด้วยซ้ำคนที่ใจหินแบบพี่เป้งมีจริงๆหรือเปล่า ผมไม่เคยเจอนะครับ แต่คล้ายๆก็พอผ่านๆอยู่บ้าง แต่โหดแบบตอนให้ยุ่นทำงานตอนท้ายเรื่องผมว่าไม่น่ามีคนแบบนี้จริงๆนะ

อ้อ..สงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมงานนี้ถึงไม่ให้เจิดทำ???

ความสัมพันธ์ของเจ๋กับยุ่น

ไม่ใช่รีทัชเชอร์กับลูกค้าเอเจนซี่ แต่เป็นคนที่ทำงานเข้าขา ยอมรับในฝีมือกันและกัน พึ่งกันได้ ไว้ใจกันได้ชีวิตจริงการพูดจาแบบนี้มีจริงครับ เหมือนหยาบคาย แต่ไม่หยาบดูกลับสนิทกันมากกว่า เช่นถึงจะเรียกตัวเองว่าหนู แต่ก็มีคำว่าแมร่งอยู่ด้วยสาเหตที่ยุ่นโกรธมากตอนเจ๋ลาออก ก็เพราะเหมือนสหายร่วมรบถอนตัวออกกลางศึกแหละครับ ถ้าเป็นในชีวิตจริงหนีไม่พ้นพอลูกโตก็มาหุ้นกันทำบริษัทรีทัชแน่นอน คอนเฟิร์ม

รีทัชเชอร์ฟรีแลนซ์ทำงานได้ทุกที่แบบยุ่นหรือเปล่า

ผมไม่เคยเห็นนะครับ และดูแล้วไม่น่าจะทำงานได้ด้วยแมคบุ๊กเครื่องเดียว งานโฆษณาถ่ายรูปใช้กล้องมีเดียมฟอแมตแน่นอนครับ จะมารีทัชด้วยแมคบุ๊คผมว่าไม่น่ารอด แต่ถ้าใช้แค่อัพโหลดไฟล์เหมือนในงานศพพ่อเพื่อน หรือในฟิตเนตยังพอเป็นไปได้

สรุป ในมุมคนทำโฆษณาแบบผม หนังเรื่องนี้เปิดส่วนหนึงของวงการออกมาให้คนดูได้เยี่ยมเลยละครับ จุดผิดเล็กๆน้อยๆ ต้องคนทำงานจริงๆเท่านั้นถึงจะสะกิดใจนอกนั้นเนียนไปหมด ดูแล้วเชื่อเลยว่าทุกคนในฉากนั้นซีนนั้นทำโฆษณากันอยู่จริงๆหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่นักแสดงทุกคนเล่นได้ดีที่สุดเท่าที่ผมดูหนังมา แสดงเหมือนไม่แสดง ไม่มีจังหวะพูดแบบหนังไทน หรือละคร ทุกประโยคเป็นประโยคที่เราใช้กันจริงๆ ชอบการแสดงของทุกคนมากครับ

ทั้งหมดที่เขียนจากประสพการณ์ของผมเองนะครับ ตรงไหนผิดพลาดไปก็น้อมรับและขออภัยครับง่วงแล้ว จบมันดื่อๆแบบนี้แหละ

ขอบคุณที่เสียเวลาอ่านกันนะครับ ^ ^

อ้าวเฮ้ย ลืมพี่สุชาติ ต่ออีกนิด ถ้าใครต้องออกอาร์ตเวิร์ค จะคุ้นตากับคนแต่งตัวแบบพี่เค้า มานั่งเล่นมือถือรอรับไฟล์ที่เรากำลังปั่นจนมือเป็นระวิงอยู่เราจะเกรงใจพี่เค้ามากเลยครับ เพราะเลยเวลานัดแล้วแต่งานอีกนิดเดียวจะเสร็จแล้ว ที่แย่คือตอบพี่เค้าไม่ได้ว่า ไอ้อีกนิดเดียวนะมันคือกี่นาทีได้แต่หาน้ำหาท่ามาให้พี่เค้าแล้วนั่งปั่นงาน สลับกับเหลือบมองเค้าอย่างหวาดๆจนงานเสร็จและพี่เค้ารับงานไป

จบจริงๆแล้วครับ..

Readers Comments (1)

  1. ลัลล์ลลินพิชญ์ Lullalinpitt 09/09/2022 @ 03:21

    Confirm ว่าจริงค่ะ!!
    ดิฉันน็อคเช้า รร หลายรอบจนมารอบสุดท้าย
    หมอถามเหมือนในหนังเลย คุณจะเลือกงานหรือเลือกชีวิตคุณ
    ลาออกจากวงการมา ไม่กี่เดือน คิดฮอตงานแบ้วเด้🤣🤣🤣

    Reply

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.