ที่มาของการเรียกร้อง “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ”

ในช่วงนี้คนในสังคมได้เห็นถึงการชุมนุมของพระสงฆ์ที่พุทธมณฑล ซึ่งข้อเรียกร้องหนึ่งที่ถูกเสนอขึ้นมาก็คือ ให้มีการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลายคนอาจจะไม่ทราบถึงความเป็นมาของเรื่องนี้ ทางเราจึงขอนำข้อมูลคร่าวๆ มาแนะนำครับ

ที่มาของการเรียกร้อง “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ”

กระแสเรียกร้องให้มีการบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นปีพุทธศักราช 2550 โดยเริ่มต้นจากชาวพุทธ ๗ องค์หลัก กล่าวคือ

  1. มหามกุฏราชวิทยาลัย
  2. มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  3. องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
  4. ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
  5. คณะสงฆ์อณัมนิกาย
  6. คณะสงฆ์จีนนิกาย
  7. พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย

ได้เริ่มต้นเรียกร้อง ต่อมา กลุ่มชาวพุทธได้ขยายเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 300 องค์กรทั่วประเทศและได้ผนึกกำลังกันเรียกร้องขึ้นมา

โดยก่อนหน้านั้น เมื่อพ.ศ. 2546 สมัยรัฐบาลของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นักวิชาการชาวไทยพุทธได้เขียนตำราเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและกล่าวไว้ว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ แต่ถูกนายวินัย สะมะอุน ชาวมุสลิม ท้วงติงว่ากล่าวเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีในรัฐธรรมนูญและอาจขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย ทำให้กรมวิชาการต้องสั่งให้ตัดประโยคดังกล่าวออกไปจากหนังสือซึ่งเป็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ทุกเล่ม ซึ่งหมายความว่าถ้าจะบอกว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทย ก็จะกล่าวได้แต่เฉพาะในกรณีที่ไม่เป็นทางการเท่านั้น

กลุ่มที่สนับสนุน “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ”

ในการเรียกร้องครั้งนี้ มีแกนนำพระสงฆ์หลายรูปที่ออกมาสนับสนุน อาทิ พระพรหมมังคลาจารย์ ปัญญานันทภิกขุ, พระธรรมกิตติเมธี, พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร) , พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม) , พระศรีญาณโสภณ (สุวิทย์) , พระมหาโช ทัศนีโย ฯลฯ นักวิชาการและชาวพุทธที่เขียนบทความ หรือให้สัมภาษณ์สนับสนุนได้แก่ ศ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ซึ่งเขียนบทความหลายชิ้นลงหนังสือพิมพ์ข่าวสดและมติชนเพื่อสนับสนุน, ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ ซึ่งเปิดเวปไซต์ส่วนตัวชี้แจงเหตุผล, นายวรเดช อมรวรพิพัฒน์ กรรมาธิการฯ ประจำรัฐสภา, นาย บรรหาร ศิลปอาชา, พลเอก ธงชัย เกื้อสกุล, พลตรี ทองขาว พ่วงรอดพันธุ์, เปลว สีเงิน คอลัมนิสต์ชื่อดัง, นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ, นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ เป็นต้น

กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ”

กลุ่มชนที่ไม่เห็นด้วยได้แก่ เมตตานันโท ภิกขุ, พระไพศาล วิสาโล, ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ภิกษุณี ธัมมนันทา, น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ, นาย ธงทอง จันทรางศุ

เรื่องนี้ได้ยุติลงที่รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ไม่ได้ระบุให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ระบุว่า “รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนา ที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน” ตามมาตรา 79

ส่วน ณ ปัจจุบันนี้ เราต้องมาดูกันอีกทีครับว่า เรื่องราวจะเป็นเช่นใด?

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.