ดราม่านมผงบนอินสตราแกรม เมื่อดาราพร้อมใจติดแท็ก #แอลฟาแล็คตาบูมิน #มนุษย์ลูกหลับได้ทุกท่า

เริ่มเป็นกระแสดราม่าหลังจากที่เคยมีกรณีดาราหลายคนพร้อมใจกันโพสต์โฆษณาแฝงเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง วันนี้ มีกรณีคล้ายกัน แต่สินค้าเป็น “นมผง” โดยบรรดาดาราที่มีลูกพร้อมใจกันติดแฮชแทกไปในทางเดียวกัน วันนี้ Zcooby ขอนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแจ้งให้ทราบครับ

โดยข้อสังเกตว่าในช่วงนี้ มีดาราหลายคนที่มีลูก จะโพสต์เกี่ยวกับเรื่องการนอนหลับของลูก พร้อมติดแฮชแท็กดังนี้

#แอลฟาแล็คตาบูมิน #มนุษย์ลูกหลับได้ทุกท่า #ท่าทางจะหัวดี #ท่าไหนก็สมองไว #หลับดีสมองไว #ใกล้นมแม่

หลายคนมีการนำเอารูปที่มีคำว่า “หลับดี สมองไว” มาวางไว้ในรูปด้วย

nom-001

ซึ่งหลายคนเชื่อว่า นี่คือโฆษณาแฝงของนมผงยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งในต่างประเทศ สินค้าประเภทนมผง ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ (แต่ไม่ได้ห้ามขาย) อาหารทารกและเด็กเล็ก ทั้งทางทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ นิตยสาร หรือ สื่อออนไลน์

 

ซึ่งในกรณีนี้ทาง เจ้าของเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ซึ่งเป็นแพทย์หญิง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจครับ

ที่มา เพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

13620027_1486570241369118_2579641547135235379_n

#‎สืบเนื่องจากดาราพากันแฮชแทกกระแสหลับดีสมองไว‬

เรามาดูกันว่า บริษัทนมผงบริษัทนี้ทำผิดหลักเกณฑ์การตลาดและโฆษณาอาหารทดแทนนมแม่ หรือไม่อย่างไร

งานนี้ไม่ได้โทษดารานะคะ เพราะดาราไม่มีความรู้เรื่องหลักเกณฑ์นี้ แต่บริษัทนมผงรู้แน่นอนค่ะ ส่วนบริษัทนมผงและเมเนเจอร์ของแบรนด์นี้ หากทราบเรื่องนี้แล้ว กรุณาแก้ไขด่วนด้วยค่ะ อย่าพยายามทำผิดอีกต่อไปเลย เสียภาพพจน์ของบริษัทเปล่าๆค่ะ

หลักเกณฑ์ที่ประเทศทางยุโรปและอีกหลายประเทศที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใช้อยู่ มีดังนี้ค่ะ
.

1) ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ (แต่ไม่ได้ห้ามขาย) อาหารทารกและเด็กเล็ก ทั้งทางทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ นิตยสาร หรือ สื่อออนไลน์ เพราะว่า การโฆษณาเกินจริงเป็นไปเพื่อการชักจูง โน้มน้าว มีผลทางด้านจิตวิทยา เกิดความคล้อยตามได้ง่าย ทำให้เชื่อว่า อาหารทดแทนนมแม่เหล่านั้น มีคุณสมบัติดีเทียบเท่ากับนมแม่ ทำให้แม่หลงเชื่อ หยุดให้นมแม่เพื่อเปลี่ยนมาใช้สิ่งทดแทนเหล่านั้น

>>> ชั้นวางขายนมผงในประเทศเหล่านี้จึงอยู่ในตำแหน่งหลังร้าน และห้ามมีของแถมหลอกล่อหรือโปรโมชั่นนมผง

>>> ผิดอย่างแรงคือ ให้ดาราแฮชแทกคำว่า ‪#‎ใกล้นมแม่‬ แย่มากๆค่ะ ต้องตัดทิ้งนะคะ ดาราบางคนไหวตัวทัน ไม่พิมพ์คำนี้ติดแฮชแทก แต่อีกหลายคนไม่ทราบ ก็ทำตามใบสั่งของบริษัทนมผง?
.

2) ห้ามแจกตัวอย่างสินค้าและของขวัญฟรีแก่แม่ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะเมื่อลูกร้องไห้มาก คุณแม่มือใหม่ จะคิดว่านมแม่มีไม่เพียงพอ แล้วนำนมที่ได้แจกฟรี มาเสริมให้ลูกกินเพื่อให้ลูกหลับได้นานๆ เมื่อลูกชินกับการกินจากขวด จะมีปัญหาไม่ยอมดูดเต้านมแม่อีกต่อไป และเมื่อลูกหลับนาน จะไม่ได้ตื่นมากระตุ้นดูดเต้านมแม่บ่อยๆ เป็นการทำลายกลไกการผลิตนมแม่ที่ได้ผลเป็นอย่างดี

>>> งานนี้มีการวางแผนการตลาดมาเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การให้นักวิชาการมาพูดเรื่องความสำคัญของการนอนกับพัฒนาการ หลายเพจที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเด็กโพสต์เรื่องเด็กควรนอนกี่ชั่วโมงต่อวัน บอกว่าถ้านอนไม่พอจะมีผลต่อ growth hormone และพัฒนาการรวมถึงอารมณ์เพราะพักผ่อนไม่พอ พ่อแม่อ่านแล้วกลัวลูกนอนไม่พอ เสร็จแล้วก็ปล่อยสปอตโฆษณานมที่เด็กกินแล้วมีสารเรืองสารออกมาจากศีรษะขณะนอนหลับ ล้างสมองคนดูว่าสมองกำลังพัฒนาขณะนอนหลับด้วยนมยี่ห้อนี้ ใส่ชื่อสารตัวหนึ่งเข้าไปเพื่อทำให้ฟังแล้วดูดีแปลกแยกแตกต่างโดดเด่นจากยี่ห้ออื่น‪#‎อัลฟาแลคตัลบูมิน‬ เพราะยี่ห้ออื่นยังไม่ได้ใส่สารตัวนี้เข้าไป จะได้อัพราคาให้แพงขึ้นได้เนียนๆ ทำให้พ่อแม่ไม่ลังเลที่จะยอมจ่ายแพงขึ้น โดยที่ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการใส่สารตัวนี้เข้าไปมีประโยชน์มากกว่านมผงที่ไม่ใส่ และจะมีผลข้างเคียงอะไรต่อสุขภาพทารกหรือไม่
.

3) ห้ามพนักงานการตลาดติดต่อหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว เพราะพนักงานจะมีวิธีชักจูงโน้มน้าวและให้ข้อมูลที่ทำให้แม่เข้าใจผิดว่า ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ทำให้ต้องใช้นมผงโดยไม่จำเป็น ในอดีตพนักงานบริษัทอาศัยช่องทางจากการขาดบุคลากรสาธารณสุข เสนอความช่วยเหลือจัดชั้นสอนสุขศึกษา ผลิตสื่อการสอนต่างๆ และสอดแทรกการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนเองเข้าไปด้วย แต่หลังจากที่โรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกที่เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ห้ามพนักงานบริษัทจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหญิงตั้งครรภ์ แม่ และ ครอบครัว บริษัทจึงไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบเก่าได้ จึงหาช่องทางใหม่ เช่น ยังแจกที่โรงพยาบาลเอกชน ไปที่โรงงาน สถานทำงานของแม่ สำนักงานประกันสังคม ที่ว่าการอำเภอที่ไปแจ้งเกิด ให้ช่วยแจกตัวอย่างนมฟรีให้
.

4) ห้ามใช้สถานบริการสาธารณสุขเป็นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ว่าเป็นที่ยอมรับของแพทย์โดยทั่วไป ห้ามบริจาคสินค้าฟรี หรือจำหน่ายราคาถูก เพราะหากแม่ที่ได้รับตัวอย่างแจกฟรีไป นำมาให้ลูกกินแล้ว จะทำให้ลูกกระตุ้นกินนมแม่ได้น้อยลง จนในที่สุดผลิตน้ำนมเองได้ไม่เพียงพอ ก็จะต้องไปเสียเงินซื้อนมผงเหล่านั้นมาใช้ต่อเนื่องในระยะยาว >>> เห็นแจกกันแทบทุกร.พ.เป็นกระเป๋ากิ๊ฟท์เซท
.

5) ห้ามให้ของขวัญหรือตัวอย่างสินค้าแก่บุคลากรสาธารณสุข เพื่อเป็นการจูงใจให้บุคลากรที่ได้รับของขวัญหรือผลประโยชน์จากบริษัท แนะนำให้คุณแม่ใช้นมผงเป็นการตอบแทน เช่น การจัดพาบุคลากรไปเที่ยวต่างประเทศ การให้เงินเป็นการตอบแทน เป็นต้น
.

6) การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการอาหารทารก ต้องได้รับอนุญาตจากกรมอนามัย เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ข้อมูลในเชิงโฆษณา เช่น ข้อมูลนมผงที่เติม DHA&AHA ซึ่งระบุว่า ทารกที่กินนมผงที่เติมสารดังกล่าวจะมีเชาว์ปัญญาและสายตาดีกว่า นมผงที่ไม่ใส่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างเกินจริงของบริษัท เพราะยังไม่มีข้อสรุปว่าเป็นจริง >>> เรื่องสารอัลฟาแลคตัลบูมินในนมผงก็เช่นกัน ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามีประโยชน์จริง เพราะเป็นอัลฟาแลคตัลบูมินวัว ไม่ใช่ชนิดเดียวกับที่อยู่ในนมแม่ จึงเอามาอวดอ้างไม่ได้ ต้องตัดแฮชแทกคำว่า #อัลฟาแลคตัลบูมิน ออกไป
.

7) ข้อมูลที่ให้แก่บุคลากรสาธารณสุขต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นจริง ในอดีต ข้อมูลที่นำมาให้บุคลากรดู มีทั้งจริงบางส่วนและไม่จริงปนๆกันอยู่ แต่ไม่มีบทลงโทษในเรื่องดังกล่าว ทำให้บริษัทมีโอกาสบิดเบือนข้อมูลได้มาก
.

8) ฉลาก ต้องไม่แสดงรูปภาพของทารกหรือข้อความชักจูงให้ใช้สินค้า เนื่องจากความน่ารักของรูปภาพ จะทำให้ผู้ซื้อคล้อยตามและอยากใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว >> นี่เล่นใช้เงินจ้างดาราแม่ลูกอ่อนเกือบทั่วประเทศไทยให้โฆษณาใน IG กันรัวๆ จนกลายเป็นกระแส viral เหมือนกับโฆษณาเบียร์ไม่มีผิด

 

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.