น้ำในหูไม่เท่ากัน คืออะไร? พร้อมสาเหตุและวิธีการรักษา

น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ บ้านหมุน อาจเป็นอาการหนึ่งที่หลายคนเคยได้ยิน แต่ไม่ทราบว่า คืออะไร เกิดจากสาเหตุไหน จะมีวิธีการรักษาหรือป้องกันอย่างไรบ้าง วันนี้ Zcooby มีคำแนะนำครับ

น้ำในหูไม่เท่ากัน คืออะไร?

น้ำในหูไม่เท่ากัน หรืออาการ “บ้านหมุน” มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า โรคเมเนียส์, โรคมีเนียร์ หรือ โรคเมนิแยร์ (Ménière’s disease – MD) แต่คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักในชื่อ  “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” หรือ “โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ”

โรคนี้เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ เป็นเหตุให้เสียความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว (เกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน) และการได้ยิน (เกิดอาการหูตึง แว่วเสียงดังในหู) ส่วนใหญ่มักเป็นกับหูเพียงข้างเดียว

โรคนี้เป็นโรคพบได้ค่อนข้างบ่อย โดยเป็นโรคที่พบได้เป็นอันดับ 2 ของสาเหตุอาการเวียนศีรษะ มักพบได้ในผู้คนอายุ 30-60 ปี ทั้งเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้พอ ๆ กัน

น้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โดยหลักการแล้ว หูชั้นใน (Inner ear) ของคนเราจะมีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยิน ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีน้ำในหูชั้นในอยู่ในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน และมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของน้ำในหูขณะเคลื่อนไหวศีรษะ จะกระตุ้นเซลล์ประสาทดังกล่าวให้มีการส่งสัญญาณไปยังสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำในหู เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากกว่าปกติ (Endolymphatic hydrops) ก็จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน

ลักษณะอาการ น้ำในหูไม่เท่ากัน

  • อาการบ้านหมุน (เวียนศีรษะอย่างรุนแรง) ผู้ป่วยมักมีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด อยู่เฉย ๆ ก็เป็นขึ้นมา และแต่ละครั้งมักเป็นอยู่นานเกิน 20 นาทีขึ้นไปถึง 2 ชั่วโมง (ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่บางรายอาจเป็นเพียงครั้งละไม่กี่นาทีหรือเป็นนานหลายชั่วโมงก็ได้) แล้วหายไปได้เอง นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก และอาจมีอาการตากระตุกร่วมกับอาการบ้านหมุนด้วย (อาการบ้านหมุนเป็นอาการหลักที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด เพราะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และต้องนอนพักเพียงอย่างเดียว)
  • ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง ในขณะที่มีอาการเวียนศีรษะ โดยเสียงที่ไม่ได้ยินมักเป็นเสียงต่ำ เช่น เสียงนาฬิกา เสียงกริ่งโทรศัพท์ เป็นต้น และหากเสียงสูงอาจจะทำให้เกิดอาการปวดหู (ทนเสียงดังไม่ได้) ซึ่งในระยะแรกของโรคอาจเป็น ๆ หาย ๆ การได้ยินมักดีขึ้นเมื่ออาการเวียนศีรษะหายไป แต่ถ้าเป็นซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง การได้ยินอาจเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหูตึงหรือหูหนวกได้ (ระยะแรกอาจเป็นเพียงข้างเดียว พอในระยะหลัง ๆ อาจมีอาการทั้งสองข้าง)
  • หูอื้อ แว่วเสียงดังในหู ซึ่งจะเกิดขึ้นในหูข้างที่ผิดปกติ มักเป็นพร้อมกับอาการบ้านหมุน อาจเป็นเฉพาะเวลาที่เวียนศีรษะหรืออาจเป็นอยู่ตลอดเวลาก็ได้
  • รู้สึกแน่นในหู ลักษณะหนัก ๆ หน่วง ๆ คล้ายกับมีแรงดันในหู (ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหู และปวดศีรษะข้างที่เป็นร่วมด้วยได้)

สาเหตุของการเกิดอาการ น้ำในหูไม่เท่ากัน

 

  • การติดเชื้อไวรัส เช่น หูชั้นในอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูน้ำหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซิฟิลิส ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
    โรคทางกาย เช่น โรคภูมิแพ้ โรคของหลอดเลือดในหู ปวดศีรษะไมเกรน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไทรอยด์
  • เคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อน
  • ภาวะเครียดทางจิตใจ การอดหลับอดนอน ร่างกายเหนื่อยล้า การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาแอสไพริน)
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน รวมถึงการมีประจำเดือน
  • ความไม่สมดุลของน้ำและเกลือแร่
  • กรรมพันธุ์ ทำให้ผู้ป่วยมีโครงสร้างหูชั้นในผิดปกติมาแต่กำเนิด
  • บางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุหรือมีปัจจัยดังกล่าวมากระตุ้น ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่

การรักษาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน

  1. เมื่อมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนในขณะเดิน ควรหยุดเดินและนั่งพัก
  2. รับประทานยาที่แพทย์ให้รับประทานเวลาเวียนศีรษะ
  3. ลดหรือจำกัดการรับประทานอาหารเค็มจัด เพราะความเค็มหรือเกลือโซเดียมที่มีปริมาณมากขึ้นในร่างกายจะทำให้มีน้ำคั่งในร่างกายและในหูชั้นในมากขึ้น
  4. พยายามอย่ารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำมากนัก
  5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  7. ลดหรือหลีกเลี่ยงสารกาเฟอีน (จากการดื่มชา น้ำอัดลม กาแฟ และช็อกโกแลต) เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และความเครียด
  8. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะในระหว่างที่เกิดอาการวิงเวียน เช่น การก้ม เงยคอ หรือหันคออย่างเต็มที่, การหมุนศีรษะไว ๆ, การเปลี่ยนท่าทางหรืออิริยาบถอย่างรวดเร็ว
  9. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น การเดินทางโดยเรือ, ความเครียดหรือความวิตกกังวล, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ (ถ้าแพ้) เป็นต้น
  10. สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ เสียงดังมาก ๆ, การยืนในที่สูง, อุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู, การติดเชื้อของหูหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน, การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทการทรงตัว (เช่น แอสไพริน (Aspirin), อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside), ควินิน (Quinine) เป็นต้น)
  11. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเลือด โรคซีด โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง ควรรักษาและควบคุมโรคเหล่านี้ให้ดี

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.