กลุ่มโรค NCDs คืออะไร? (สาเหตุและวิธีการป้องกัน)

หลายคนอาจจะเห็นโฆษณาทางทีวีที่พูดถึงความน่ากลัวของกลุ่มโรค เอ็นซีดี (NCDs) ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มโรคที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากกว่าสาเหตุการตายอื่นๆ ทุกสาเหตุรวมกัน มากถึง 36.2 ล้านคนต่อปี (สถิติปี 2554) ทำให้หลายคนสงสัยว่า มันคือโรคอะไร? เกิดจากสาเหตุอะไร? และเราจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคในกลุ่มนี้หรือไม่ Zcooby เลยอยากเอาความรู้เรื่องนี้มาเล่าให้ฟังนะครับ

โรค NCDs

กลุ่มโรค NCDs คืออะไร?

กลุ่มโรค NCDs เป็นคำย่อมาจากคำว่า Non-communicable disease แปลเป็นไทยว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อ

โดยเป็นโรคที่ไม่สามารถแพร่กระจายโรคจากคนสู่คนได้ โดยทั่วไปอาจเรียกว่า กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งหมายถึงโรคที่เกิดต่อเนื่องยาวนาน และมีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ ที่มักมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว

โดยสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค มักเกิดกับบุคคลที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ทั้งเรื่องการกิน การนอน การออกกำลังกาย และการทำงาน

กลุ่มโรค NCDs ที่สำคัญประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง)
  2. กลุ่มโรคเบาหวาน
  3. กลุ่มโรคมะเร็ง
  4. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืด)

พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรค NCDs

เนื่องจากโรค NCDs มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ เช่น

  • สูบบุหรี่
  • ดื่มสุรา
  • กินอาหารหวาน หวานเกินไป, มันเกินไป หรือ เค็มเกินไป บ่อยๆ ซ้ำ
  • การขาดการออกกำลังกาย
  • ความเครียดสะสม ที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรค NCDs

1. ความเชื่อว่าเป็นโรคของคนแก่
โดยทั่วไปมักมีความเข้าใจกันว่าโรค NCDs เป็นโรคของผู้สูงอายุ แต่จากข้อมูลพบว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของการตายด้วยโรค NCDs พบว่าเป็นการเสียชีวิต ก่อนอายุ 60 ปี อาการของโรคที่เกิดขึ้นตอนสูงอายุ มักเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงสะสม ในช่วงวัยหนุ่มสาว เหมือนเราสะสมดินระเบิดเอาไว้เรื่อยๆ ซักวันมันก็ต้องระเบิดออกมา
2. ความเชื่อว่าเป็นโรคของคนรวย
เนื่องจากสาเหตุของโรค NCDs มักเกี่ยวข้องกับการกินอยู่และวิถีชีวิต ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าโรคเหล่านี้ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มักเป็นโรคของความอยู่ดีกินดี และมักเกิดขึ้นเฉพาะกับคนในสังคมเมือง หรือคนรวยเท่านั้น ซึ่งในควมเป็นจริง คนยากจนเสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs มากกว่าคนรวย เพราะมีพฤติกรรมสุขภาพที่เสี่ยงมากกว่า เช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา เป็นต้น ที่สำคัญเมื่อเป็นโรคแล้ว คนยากจนจะมีความสามารถในการดูแลรักษาสุขภาพที่น้อยกว่า จึงมักควบคุมอาการไม่ได้และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้มากกว่า

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงจากกลุ่มโรค  NCDs

แต่วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงก็ทำได้ไม่ยาก แค่เพียง ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคเหล่านี้ เช่น

  • งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่มิได้เป็นเพียงสาเหตุของโรคมะเร็งเท่านั้น
  • หยุดการดื่มสุรา เพราะเป็นสาเหตุของโรคมากกว่า 3 โรค
  • หยุดการกินตามใจปาก พิจารณาถึงคุณค่าของสารอาหารก่อนรับประทานทุกครั้ง
  • หาโอกาสในการออกกำลังกายอยู่เสมอ
  • จัดการความเครียดที่เกิดขึ้นให้เหมาะสม

 

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.