“โรคมโน” “โรคหลอกตัวเอง” คืออะไร? รู้จักการโกหกตัวเองจนเป็น”โรค”

ในปัจจุบันนี้ หลายคนอาจจะได้ยินคำว่า “โรคมโน” “โรคหลอกตัวเอง” หรือ “โรคโกหกตัวเอง” จนหลายคนอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร? ถือว่าเป็นโรคหรือไม่? วันนี้ Zcooby หาคำตอบมาให้ทราบนะครับ

“โรคมโน” “โรคหลอกตัวเอง” หรือ “โรคโกหกตัวเอง” คืออะไร?

“โรคมโน” หรือ โรคโกหกตัวเอง มีชื่อในวงการจิตวิทยา ที่เรียกคนที่มีลักษณะแบบนี้ว่า “Pathological Liar”

คนที่มีอาการหลอกตัวเอง (Pathological liar) คือคนที่ชอบเล่าเรื่องโกหกหรือสร้างเรื่องราวขึ้นมาเอง โดยคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตโดยยึดหลักความเป็นจริง และเชื่อว่าเรื่องโกหกที่พวกเขาพูดเป็นเรื่องจริง อาการหลอกตัวเองส่วนใหญ่จะแสดงออกมาเพื่อแก้ปัญหาความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ

สาเหตุของการโกหกตัวเอง

ในทางจิตวิทยายังระบุไว้ว่าอาจมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น

  • ความขัดแย้งในครอบครัว อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหามาตั้งแต่เด็กๆ
  • อาจเคยถูกกระทำชำเรา ถูกทำร้ายร่างกาย จึงเป็นปมที่เคยเกิดขึ้นสมัยเกิดเหตุการณ์นั้นๆ
  • ผลข้างเคียงจากโรคยั้งใจไม่ได้ (Impulse control disorders) มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง ซึ่งอาจมีอาการของโรคชอบขโมยของ หรือโรคบ้าช้อปปิ้งร่วมด้วย
  • มีลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมเลียนแบบ คนที่ตัวเองมีความรู้สึกอิจฉาริษยา
  • อาการของโรคบุคลิกภาพแปรปรวน เช่น มีบุคลิกภาพของอันธพาล โรคหลงตัวเอง โรคสองบุคลิก

ประเภทของผู้เป็นโรคหลอกตัวเอง

สามารถจำแนกอาการได้ถึง 3 ประเภท

1. กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชอยู่แล้ว มักมาจากการหลงผิด ซึ่งส่งผลให้มีความคิดและความเข้าใจไปตามอาการหลงผิดของตัวเอง ทำให้การเล่าความเท็จลื่นไหลเสมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ หรือค่อนไปทางเล่าเรื่องที่เป็นโลกส่วนตัวของตัวเองมากเกินไป และหากมีใครมาขัดใจหรือลบล้างความคิดในมโนของเขา ก็อาจเกิดความรู้สึกไม่พอใจหรือโกรธขึ้นมาได้

2. กลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาการป่วยโรคหลอกตัวเองมักเกิดจากปมอันร้ายแรงในใจ เหตุการณ์ที่เคยเจ็บช้ำในอดีต จนไม่กล้าต่อสู้กับเรื่องราวเหล่านั้น และเป็นที่มาของการสร้างเรื่องราวเท็จขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น และทำเช่นนี้บ่อยๆ จนเกิดความเคยชินในการหลอกตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นลึกๆในใจยังคงมีสติและจำความเจ็บปวดนั้นอยู่ดี

3. กลุ่มที่มีปัญหาด้านบุคลิกภาพ กลุ่มนี้จัดว่าเป็นนิสัยที่ชอบโกหก ชอบพูดเท็จโดยกมลสันดาน ซึ่งหากไม่คิดกลับตัวกลับใจ นิสัยชอบหลอกตัวเองและโกหกผู้อื่นอาจติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็ได้

อาการ,ลักษณะของผู้ป่วยโรคโกหกตัวเอง

  • พูดไปยิ้มไป แต่เป็นยิ้มหลอกๆ ที่สามารถจับสังเกตได้
  • บางครั้งก็มีอารมณ์แปรปรวน มีอาการดีใจและเสียใจสลับกันไป
  • พูดจาวกวน ซ้ำไปซ้ำมา พูดติดๆขัดๆ อธิบายเรื่องยาว เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ บางทีกัดริมฝีปาก

วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคโกหกตัวเอง

แนวทางการรักษาโรคหลอกตัวเองก็มีให้เลือกอยู่ แต่การรักษามักจะติดขัดตรงที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับความป่วยของตัวเอง หรือไม่ยอมก้าวออกมาจากโลกมโน ซึ่งเคสนี้ก็ควรต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของจิตแพทย์ และกำลังใจจากคนรอบข้าง ที่จะช่วยชักจูงให้เขายอมบำบัดรักษา ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. ว่ากล่าวตักเตือน ในกรณีที่ผู้ป่วยยังเป็นเด็ก อาจให้การรักษาได้ด้วยวิธีการว่ากล่าวตักเตือนเมื่อเขาโกหก แต่ทั้งนี้ต้องมีเหตุผลที่สมควรในการทำโทษ รวมทั้งควรได้รับคำแนะนำจากจิตแพทย์ในส่วนของบทลงโทษที่เหมาะสมกับผู้ป่วยชอบหลอกตัวเองด้วย

2.ความคิดและพฤติกรรมบำบัด ค่อยๆ ปรับทัศนคติและความคิดของผู้ป่วย โดยจิตแพทย์อาจหาเหตุผลที่แท้จริงของการหลอกตัวเองให้เจอก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ แก้ปมอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมกับผู้ป่วย พร้อมกับดึงเขากลับมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

3. ยา ในส่วนผู้ป่วยโรคหลอกตัวเองที่มีสาเหตุมาจากอาการทางจิตหรือความผิดปกติของร่างกายบางอย่าง เคสนี้แพทย์อาจสั่งยารักษาไปตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาอาการหลงผิดหรือหลงไปอยู่ในโลกแห่งการโกหกนั้นได้บ้างไม่มากก็น้อย

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.