อากงSMS คือใคร? พร้อมรายละเอียดคดี #อากงsms

อากงSMS คือใคร?
อากงSMS หรือ นายอำพล ตั้งนพกุล ชายอายุ 61 ปี ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความมีเนื้อหาดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ฯรวม 4 ข้อความ โดยส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เป็นเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
ศาลตัดสินว่าอำพลมีความผิดลงโทษจำคุก 20 ปี อำพลเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งระหว่างจำคุก
คดีนี้ได้รับความสนใจมากเนื่องจากคำพิพากษาลงโทษที่สูง จำเลยเป็นชายแก่ที่ฐานะยากจนและปฏิเสธว่าตัวเองส่งข้อความ SMS ไม่เป็น และคดีนี้มีประเด็นเรื่องการนำสืบพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้หมายเลขอีมี่ของเครื่องโทรศัพท์เป็นหลักฐานสำคัญ
รายละเอียดคดีอากง
นายอำพล ชายอายุ 61 ปี (ในวันที่ถูกจับ) เคยประกอบอาชีพขับรถส่งของ ก่อนถูกจับไม่ได้ประกอบอาชีพเนื่องจากอายุมากและพูดไม่ถนัดหลังการผ่าตัดมะเร็งใต้ลิ้นตั้งแต่ปี 2550 ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีอำพลอาศัยอยู่กับภรรยาในห้องเช่าราคาเดือนละ 1,200 บาท ย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ดำรงชีพด้วยเงินที่ได้รับจากลูกๆ แต่ละวันมีหน้าที่ต้องเลี้ยงหลาน 3-4 คน อำพล เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นครั้งคราว
วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพร้อมด้วยสื่อมวลชน เข้าไปจับกุมอำพลที่บ้านพักในย่านสำโรง ตำรวจตรวจพบโทศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า สองเรื่อง และนี่ห้อเทเลวิซหนึ่งเรื่องในตู้เสื้อผ้า
ตามข้อกล่าวหาของตำรวจ อำพลถูกระบุว่าเป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์การเมืองของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
นายอำพลถูกฟ้องในข้อหาสร้างความตื่นตระหนก, กระทบต่อความมั่นคง, หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ตามมาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ , มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ , มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
ไทม์ไลน์ของคดีอากง SMS
3 สิงหาคม 2553
อำพล ถูกจับกุมที่บ้านพักในสมุทรปราการ หลังถูกจับกุม อำพลถูกคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 63 วัน เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
29 กันยายน 2553
ทนายความยื่นประกันตัวครั้งที่สอง โดยใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักทรัพย์
4 ตุลาคม 2553
ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้อำพลประกันตัว ให้เหตุผลว่า หลักประกันน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี
18 มกราคม 2554
อัยการมีคำสั่งฟ้องนายอำพลเป็นจำเลยในคดีที่มีการส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูง ไปยังนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ มีความผิดตามมาตรา 14 (2), (3) ตามพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวตเตอร์ฯ และมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา อำพลถูกควบคุมตัวอีกครั้ง
หลังมีคำสั่งฟ้อง ทนายยื่นขอประกันตัวอีกครั้งโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ คำร้องของทนายความส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้ร้องไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนีใดๆ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเพียงชายสูงอายุธรรมดาอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกสะใภ้ และหลาน 3 คนในห้องเช่าในจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ร้องไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ เพราะอายุมากแล้ว ผู้ร้องยังชีพด้วยเงินที่บุตรของผู้ร้องส่งให้เดือนละประมาณ 3,000 บาท และใช้สิทธิการรักษาตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ผู้ร้องยังเป็นโรคมะเร็งช่องปากซึ่งต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางที่ โรงพยาบาลราชวิถีอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ก่อนถูกจับกุมหากผู้ร้องมีหน้าที่รับส่งหลานๆไปยังโรงเรียน หากออกไปทำธุระนอกบ้านผู้ร้องก็ต้องกลับมาอาศัยที่บ้านเสมอ และในขณะจับกุมผู้ร้องซึ่งมีอายุ 60 ปี ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 15 นายพร้อมกับสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ผู้ร้องและบุคคลในครอบครัวผู้ร้องยังมีอาการตระหนกตกใจ และผู้ร้องก็ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือขัดขืนการจับกุมใดๆ ทั้งนี้เมื่อผู้ร้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนผู้ร้องก็มา รายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพนักงานอัยการนัดหมายมาฟ้องคดีผู้ร้องก็รีบเตรียมเอกสารและหาหลัก ประกันโดยเร็วให้ทันนัดหมายของพนักงานอัยการเพื่อไม่ให้เนิ่นช้าออกไป ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องไม่เคยมี พฤติการณ์ใดๆและไม่มีความสามารถซึ่งจะทำให้ศาลอาญาเกรงว่าผู้ร้องจะหลบหนี ได้
คำร้องของทนายความยังอ้างด้วยว่า การควบคุมตัวผู้ร้องระหว่างการพิจารณาจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตและ ร่างกายโดยตรงของผู้ร้องและไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อการพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องมีปัญหาทางสุขภาพ มีโรคร้ายประจำตัว และผู้ร้องซึ่งยังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดจึงมีสิทธิใน การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคสอง วรรคสาม มาตรา 40(7)
ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงยกคำร้อง
ระหว่างช่วงเวลาที่ถูกคุมขังอยู่ ทนายความยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต
23, 27, 28. 30 กันยายน 2554
นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย (ดูรายละเอียดได้ในหมวด บันทึกสังเกตการณ์คดี)
6 ตุลาคม 2554
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ทนายยื่นขอประกันตัวอำพลอีกครั้งด้วยหลักทรัพย์เป็นที่ดินของญาติจำเลย อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ให้ประกัน เนื่องจากไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
21 ตุลาคม 2554
ทนายยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาล ตามความประสงค์ของจำเลยที่จะขอยื่นคำแถลงดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาคดี ก่อนที่ถึงวันนัดฟังคำพิพากษา โดยคำแถลงปิดคดีระบุว่า พยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเองหลายประการ มีพิรุธ น่าสงสัย และมีน้ำหนักน้อย อาจกระทบกระเทือนถึงการที่จำเลยอาจต้องโทษทั้งที่มิได้กระทำความผิด
ซึ่งเหตุที่ต้องยื่นคำแถลง มีดังนี้
- การใช้หมายเลขเครื่อง(อีมี่) ในการเชื่อมโยงว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเลขอีมี่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถซ้ำกันได้
- การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานมุ่งไปที่ตัวจำเลยโดยตรง โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับหมายเลขอีมี่ และคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกับพยานเอกสารฝ่ายโจทก์
- โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานเอกสารใดที่จะชี้ได้ว่า จำเลยเป็นผู้กดพิมพ์ข้อความ และส่งข้อความดังกล่าว
23 พฤศจิกายน 2554
ศาลเทเลคอนเฟอร์เรนซ์อ่านคำพิพากษานายอำพล ฐานส่ง SMS หมิ่นฯ 4 ครั้ง ผิดตาม ปอ.มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (3) ลงโทษกรรมละ 5 ปีรวมจำคุก 20 ปี ชี้หลักฐานอิเล็กทรอนิคส์น่าเชื่อว่าส่งจากเครื่องโทรศัพท์ที่จำเลยใช้ และจากย่านที่พักของจำเลย
22 กุมภาพันธ์ 2555
ทนายความจำเลยยื่นอุทธรณ์และยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เงินสด และตำแหน่งนักวิชาการ 7 คน
23 กุมภาพันธ์ 2555
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลย โดยระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับข้อที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยไม่ปรากฏว่าถึงขนาดจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลที่จะรองรับให้การรักษาจำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องและแจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยและผู้ขอประกัน ทราบโดยเร็ว
ต่อมาทนายความยื่นฎีกาคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวต่อศาลฎีกา
13 มีนาคม 2555
ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลย โดยระบุเหตุผลในคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการแห่งคดีและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจำหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ (ดูเอกสารคำสั่งศาลฎีกา) (ดูเอกสารคำสั่งศาลฎีกา)
13March12Deny_Last
นับแต่วันฟ้องคดี 18 มกราคม 2554 จนถึงวันที่ขอถอนอุทธรณ์วันที่ 3 เมษายน 2555 รวมศาลชั้นต้นยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำนวน 4 ครั้ง ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องจำนวน 3 ครั้ง และศาลฎีกายกคำร้องจำนวน 1 ครั้ง
3 เมษายน 2555
ทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์
8 พฤษภาคม 2555
10.20 น. ทนายอานนท์ นำภา แจ้งข่าวผ่านทางเฟซบุคว่า นางรสมาลิน ภรรยานายอำพลโทรศัพท์มาแจ้งว่า นายอำพลเสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังจากเข้ารักษาตัวเพราะปวดท้องอย่างหนักเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555
12.30 น. นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล พร้อมนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ นางสาวพูนสุขกล่าวว่า นายอำพลถูกส่งมาที่ รพ. ด้วยอาการปวดท้องเมื่อช่วงก่อนเที่ยงของวันที่ 4 พฤษภาคม และรอคิวได้เตียงเป็นผู้ป่วยในเมื่อเวลา 15.40 น. แต่ยังมิได้เจาะเลือดหรือตรวจเพิ่มเติม เพราะหมดเวลาทำการและติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ต่อมา มีการเจาะเลือดในวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม แต่ผลตรวจยังไม่ออก เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับตับ เพราะตับโต
ทั้งนี้ วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 นางรสมาลินไปเยี่ยมนายอำพลที่เรือนจำในเวลาเช้า และได้ทราบว่านายอำพลถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาล นางรสมาลินเดินทางไปถึงโรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อเวลา 9.40 น. จึงมีเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบว่า นายอำพลเสียชีวิตแล้วเมื่อเวลาประมาณ 9.10 น. ของวันดังกล่าว แพทย์ยังไม่กล้าระบุสาเหตุการเสียชีวิต ขณะนี้กำลังรอการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย
นางสาวพูนสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า นายอำพลมีอาการปวดท้องมาเป็นเดือนแล้ว แต่เพิ่งเป็นหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะนี้ ถอนอุทธรณ์แล้ว อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีกำหนดจะทำภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้า
13.10 น. พันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าจะตั้งคณะทำงานตรวจสอบการเสียชีวิตของนายอำพล โดยมีเจ้าพนักงานจากกรมราชทัณฑ์ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนท้องที่ และสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ
14.00 น. กรมราชทัณฑ์เคลื่อนย้ายศพนายอำพลไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ
19.12 น. ประชาชนนับร้อยร่วมกิจกรรมจุดเทียนไว้อาลัยการจากไปของนายอำพล หรือ “อากง” ทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น
9 พฤษภาคม 2555
คณะแพทย์และฝ่ายต่างๆตามกฎหมายผ่าพิสูจน์ศพนายอำพล โดยมีแพทย์ภายนอกเข้าร่วมสังเกตการณ์ 3 คน ได้แก่ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล และนพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต
พ.ต.อ.สุพล จงพาณิชย์กุลธร นพ.(สบ5) ในฐานะโฆษก รพ.ตำรวจ เปิดเผยผลการชันสูตรศพเบื้องต้นว่า ผู้เสียชีวิตเป็นมะเร็งที่ตับและกระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้มีภาวะการหายใจล้มเหลว
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยและกรรมการชันสูตรพลิกศพตั้งข้อสังเกตว่า อาการป่วยของนายอำพลน่าจะเป็นมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน แพทย์ของรพ.ราชทัณฑ์ น่าจะตรวจรักษาและไม่น่าปล่อยให้เรื้อรังจนลุกลาม
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ดูจากสภาพตับแบบนี้เชื่อว่าเป็นมะเร็งมาไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือนขึ้นไป ดังนั้นสะท้อนว่า ระบบการรักษา การประเมินคนไข้ของกรมราชทัณฑ์มีปัญหา นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อคนไข้ใกล้จะเสียชีวิต โดยปกติเราต้องมีการปั้มหัวใจหรือใช้วิธีการต่างๆ เพื่อกู้ชีวิตคืนอย่างหนักหน่วง แต่เท่าที่ดูไม่เห็นร่องรอยความพยายามที่จะช่วยเหลือคนไข้อย่างเพียงพอ
17 ธันวาคม 2555
ประชาไท รายงานว่าที่ศาลอาญา รัชดา มีการไต่สวนการเสียชีวิตของนายอำพล ในการไต่สวนครั้งนี้มีหัวหน้าพยาบาลและแพทย์เจ้าของไข้จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์มาเบิกความ
รัชนี หาญสมกุล หัวหน้าพยาบาลเบิกความโดยสรุปว่า อำพลถูกนำตัวส่งมายังโรงพยาบาล วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม เวลา 15.30 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดห้องขังพอดี เขาถูกส่งมาที่ชั้น 5 ซึ่งรับกรณีป่วยหนัก โดยปกติมีผู้ป่วยประมาณ 70 คนเต็มตลอดภายใต้การดูแลของพยาบาลประจำชั้น 6 คน อำพลนอนรักษาตัวในโซนพิเศษซึ่งอยู่ใกล้ลูกกรงที่สุดเพื่อให้อยู่ในสายตาของพยาบาลอย่างใกล้ชิด ถัดจากเย็นวันนั้นเป็นวันเสาร์ วันอาทิตย์และวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่อื่นจะไม่ได้มาทำงานเว้นเฉพาะพยาบาลเวรชาย 1 คนที่ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยทั้งตึก พยาบาลจะเข้าไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วยได้เฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปด้วยเท่านั้น โรงพยาบาลไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งและเครื่องมือเฉพาะทาง การส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลอื่นจะกระทำได้ด้วยการตัดสินใจของผู้อำนวยการโรงพยาบาลเท่านั้น
รัชนี้ระบุต่อไปว่า ในวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม เวลาประมาณ 9.10 น. หลังจากมีการเจาะเลือดอำพลเพื่อเตรียมไปตรวจ เธอได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเพื่อนพยาบาลว่าอำพลเสียชีวิตหลังจากอาเจียนออกมาแล้วหยุดหายใจไป โดยก่อนนี้ยังรับประทานอาหารและเดินเองได้
นายแพทย์กิตติบูลย์ เตชะพรอนันต์ แพทย์เจ้าของไข้ เบิกความว่า ผู้ป่วยถูกนำส่งโรงพยาบาลในเวลาประมาณ 10.30-11.00 น. ของวันที่ 4 พฤษภาคม ทราบจากผู้ป่วยเองว่าเขามีอาการแน่นท้อง ท้องโตขึ้น จึงสันนิษฐานว่าเป็นอาการของตับโตและเป็นไปได้สูงว่าจะมีการแพร่กระจายของมะเร็ง จึงให้ยาขับปัสสาวะ ยาแก้ปวดลดไข้และส่งไปพักรักษาที่ชั้น 5
ในวันหยุดต่อเนื่องนั้นนายแพทย์กิตติบูลย์ได้เข้ามาที่โรงพยาบาลทุกวันเพื่อดูแลคนไข้ผ่าตัดและเข้าเยี่ยมอำพลข้างนอกลูกกรง ในวันเสาร์อำพลบอกว่าอาการแน่นท้องทุเลาลงแต่ท้องยังโตมากแต่ในวันอาทิตย์ได้บอกผ่านเพื่อนนักโทษว่ามีการอาเจียน 1 ครั้ง ตนได้สั่งน้ำเกลือแบบชงให้ เมื่ออาการดังกล่าวหยุดตามที่เพื่อนนักโทษแจ้ง จึงให้กลับไปรักษาตามเดิมเพื่อรอผลตรวจเลือดและเอ็กซเรย์ช่องท้อง
ในวันอังคาร นายแพทย์กิตติบูลย์ได้รับแจ้งว่าคนไข้เสียชีวิต จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตเบื้องต้น ในเวลาไล่เรี่ยกันนั้นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมีคำสั่งให้ นพ.กิตติบูลย์ ไปรับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ซึ่งจะเข้ามาเยี่ยมอำพล ก่อนได้รับแจ้งอีกครั้งว่าการช่วยชีวิตไม่เป็นผลสำเร็จ
23 เมษายน 2556
ศาลอาญานัดไต่สวนการตายของนายอำพล ในวันนี้ ศาลไต่สวนผู้เกี่ยวข้องกับกรณีสองคน
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำโรงพยาบาลราชทัณฑ์ปฏิเสธว่าตนไม่รู้จักนายอำพล ไม่ทราบว่านายอำพลป่วยเป็นอะไร ร้ายแรงแค่ไหน รวมทั้งไม่ทราบว่าผู้ใดคือเจ้าของไข้และไม่ทราบว่าใครคือแพทย์ที่รับผิดชอบในการรักษานายอำพล เมื่อทนายความซักถึงการเข้าถึงตัวผู้ป่วยในยามวิกาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตอบว่าจะต้องมีการทำหนังสือถึงพัสดีเวรเป็นรายลักษณ์อักษร และพยาบาลไม่สามารถจะเข้าไปในห้องผู้ป่วยได้จนกว่าจะพัสดีจะอนุญาต
เจ้าพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจประชาชื่นผู้รับแจ้งเหตุการตายของนายอำพลให้ปากคำว่า เมื่อรับแจ้งเหตุการตาย ตนได้ประสานกับผู้เกี่ยวข้องเช่นพนักงานอัยการ พนักงานปกครอง แพทย์นิติเวชเพื่อเข้าร่วมการชันสูตรหาสาเหตุการตาย เมื่อทำการชันสูตรศพไม่พบร่องรอยการทำร้ายร่างกายจึงส่งศพของนายอำพลต่อไปที่ฝ่ายนิติเวชเพื่อทำการผ่าพิสูจน์โดยละเอียด ทั้งนี้ทางเจ้าพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกตัวผู้เกี่ยวข้องเช่นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ดูแลความเรียบร้อยในโรงพยาบาล หรือแพทย์มาทำการสอบสวนแต่อย่างใด
24 เมษายน 2556
ศาลนัดไต่สวนการตายนายอำพล ในวันนี้มีนายธันย์ฐวุฒิหรือหนุ่มเรดนนท์ จำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อีกคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนของนายอำพลขณะอยู่ในเรือนจำ มาเบิกความเป็นพยาน
ธันย์ฐวุฒิเบิกความถึงการตายของนายอำพล สรุปใจความได้ว่า
การบริการสุขภาพแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นไปอย่างจำกัดและไม่ได้มาตรฐาน สำหรับแดนแปดที่นายธันย์ฐวุฒิและนายอำพลถูกจองจำอยู่มีโควต้าให้ผู้ต้องขังมาพบแพทย์ได้วันละ20คนเท่านั้น ผู้ต้องขังแต่ละคนจะพบแพทย์ได้เพียงอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น หากอาการยังไม่ดีก็ต้องรอโควต้าในอาทิตย์ต่อไป แพทย์จะมาแค่วันอังคารกับพฤหัสส่วนวันอื่นๆจะมีเพียงบุรุษพยาบาลทำหน้าที่เท่านั้น การตรวจวินิจฉัยโรคบ่อยครั้งเป็นเพียงการสังเกตภายนอก ไม่มีการตรวจโดยละเอียด ครั้งแีรกที่นายอำพลเคยไปพบแพทย์ ก็ไม่มีการตรวจโดยละเอียด เพียงสั่งยาแก้ปวดท้องให้เท่านั้น การจ่ายยาให้นักโทษบางครั้งก็เป็นการจ่ายยาที่ไม่เหมาะกับลักษณะของโรค ต่อมาเมื่ออาการของนายอำพลทรุดลงมากมีคนช่วยเรียกร้องให้นายอำพลเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าสถานพยาบาลภายในเรือนจำ
ต้นเดือนเมษายน 2555 นายอำพลเริ่มมีอาการปวดท้อง ต่อมามีอาการท้องบวมโตและแข็งและไม่ถ่ายอุจจาระ จนวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 อาการทรุดหนักลง ไม่มีเรี่ยวแรง เดินไม่ได้ พอมีประกาศว่ามีคนมาเยี่ยมก็ลุกไม่ไหว มีอาการตาเหลือก ท้องใหญ่มาก ต้องใช้รถเข็นพาไป จนวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 จึงมีประกาศให้นำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ธันย์ฐวุฒิย้ำในตอนท้ายว่าผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติในการเข้ารับการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกันคือเลวร้ายเท่ากัน
7 พฤษภาคม 2556
นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ และนายอานนท์ นำภา ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนางรสมาลิน ตั้งนพกุล ยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์ต่อศาลปกครองกลาง เรียกค่าเสียหายกรณีที่นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง SMS เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ใจความสำคัญในคำฟ้อง สรุปได้ว่า ผู้ตายอยู่ในความควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมราชทัณฑ์ ตั้งแต่ 18 มกราคม 2554 – 8 พฤษภาคม 2555 ซึ่งทัณฑสถานและเรือนจำพิเศษมีอำนาจหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ต้องขังป่วย และจัดสวัสดิการให้การสงเคราะห์และพัฒนาสุขภาพอนามัยต่อผู้ต้องขัง แต่เจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัดกรมราชทัณฑ์ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต
กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ละเลยเพิกเฉยต่อการเฝ้าระวังรักษามะเร็งไม่ให้ลุกลาม ทั้งที่ได้รับแจ้งตั้งแต่ต้นปี 2554 ละเลยการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของอาการป่วย เพียงรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด ยากแก้หวัด วิตามิน มีการหยุดการดำเนินการรักษาใดๆ ในช่วงวันที่ 4-8 พฤษภาคม 2555 เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ และไม่จัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยชีวิตผู้ต้องขังป่วยเมื่อฉุกเฉิน แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการรักษาพยารักษาพยาบาลที่ต่ำกว่ามาตรฐานโรงพยาบาลรัฐภายนอกเรือนจำทั่วไป ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 51 ที่รับรองว่าบุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน แม้ผู้ตายจะตกเป็นผู้ต้องขัง แต่ผู้ตายก็ยังคงมีสิทธิในการได้รับการบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจในการรักษาพยาบาล และเป็นหนทางเดียวของผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย ซึ่งหากผู้ตายได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็ไม่อาจถึงแก่ความตาย การตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากของเจ้าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สังกัดกรมราชทัณฑ์การละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย
กรมราชทัณฑ์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งการละเมิดของเจ้าหน้าที่โดยเรียกร้องค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ 70,000 บาท ค่าเสียหายจากการไม่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ 1,000,000 บาท ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และการคุมขังบุคคลไม่ให้การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,070,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 365 วัน เป็นเงิน 155,550 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 2,225,250 บาท
1 กรกฎาคม 2556
เวลาประมาณ 10.00 น. นางสาวรสมาลิน ภรรยาของนายอำพล และนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ เดินทางไปที่ศาลปกครองตามนัดไต่สวนคำร้องขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีที่ฟ้องกรมราชทัณฑ์เพื่อเรียกค่าเสียหาย โดยหากศาลไม่ยกเว้นค่าธรรมเนียม นางสาวรสมาลินในฐานะผู้ฟ้องคดี อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 40,000 บาท
นางสาวรสมาลินให้ถ้อยคำต่อศาลว่า ปัจจุบันอยู่ห้องเช่ากับบุตรซึ่งป่วย ไม่ได้ประกอบอาชีพ สมาชิกในครอบครัวประกอบด้วย สะใภ้และหลานรวม 8 คน ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านรวมค่าน้ำค่าไฟประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน มีรายได้ที่ได้รับจากลูกประมาณเดือนละ 6,000-7,000 บาท หากไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมจะต้องกู้เงินมาจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมศาล
ทั้งนี้ การฟ้องคดีนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะได้รับเงินค่าเสียหาย แต่ต้องการสร้างมาตรฐานให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วและทัดเทียมกับคนที่อยู่นอกเรือนจำจะได้ไม่มีผู้ประสบเหตุอย่างกรณีของนายอำพลอีก
ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า ระหว่างการให้ถ้อยคำศาลได้เสนอให้ลดจำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องจากกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะทำให้เสียค่าธรรมเนียมน้อยลงแต่นางสาวพูนสุขยืนยันว่าจะไม่ลด เพราะเป็นค่าเสียหายที่ไม่ได้สูงเกินไป และต้องการสร้างมาตรฐานให้เห็นถึงความเสียหายอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องของกรมราชทัณฑ์
8 สิงหาคม 2556
ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีการไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพนายอำพล ตั้งนพกุล โดยในวันนี้มี นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแพทย์ที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจชันสูตรพลิกศพนายอำพลที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความเป็นปากสุดท้าย
น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความนายอำพล กล่าวถึงคำเบิกความของ นพ.กิติภูมิโดยสรุปว่า สภาพศพของนายอำพลนั้นมีท้องโต หน้าท้องตึงใส เมื่อผ่าพบน้ำในช่องท้องจำนวนมากราว 2 ลิตร ไม่พบมะเร็งที่ลิ้น แต่พบมะเร็งที่จุดใหม่คือบริเวณตับ และปรากฏจุดมะเร็งตามผนังช่องท้อง มีความเห็นว่า นายอำพลเป็นมะเร็งในระยะลุกลาม แต่ไม่ได้เสียชีวิตจากมะเร็ง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากมีน้ำในช่องท้องจำนวนมาก และตามประวัติการรักษาในเวชระเบียน พบว่าไม่มีการเจาะน้ำในช่องท้องออก ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะเนื่องจากน้ำไปดันกระบังลม มีผลต่อการสูบฉีดหัวใจ ซึ่งพบว่ามีการให้ยาขับปัสสาวะ ให้ยาลดการบีบตัวของหัวใจ แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
นพ.กิติภูมิกล่าวอีกว่า ในวันที่ 8 พ.ค.ซึ่งเป็นวันที่นายอำพลเสียชีวิตนั้น ตามเวชระเบียนพบว่ามีเพียงพยาบาลที่ให้ความช่วยเหลือกู้ชีพเบื้องต้นโดยการปั๊มหัวใจด้วยมือและเครื่องมือพื้นฐาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยในทุกแห่งต้องมีแพทย์ประจำการเพื่อร่วมปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน มีการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ มีการให้ยากระตุ้นหัวใจด้วย แต่ปรากฏว่าไม่มีแพทย์อยู่ที่เกิดเหตุและไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว
ศาลจะมีคำสั่งวันที่ 30 ต.ค.นี้ เวลา 9.00 น. เพื่อระบุว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด รวมถึงสาเหตุและพฤติการณ์การตายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
30 ตุลาคม 2556
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ศาลอ่านคำสั่งไต่สวนการตายของอำพล มีใจความสรุปว่า อำพลเสียชีวิตจากระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย ระหว่างควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน แม้ทางฝ่ายญาติของผู้เสียชีวิตให้การว่าผู้ตายไม่ได้อาหารและยาอย่างเหมาะสม มีการพูดจาเสียดสีเกี่ยวกับคดีของผู้ตาย ทั้งมอบหมายงานให้ทำอย่างหนัก แต่ทั้งหมดเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมคนจำนวนมากในสถานคุมขัง ผู้ตายเองยังได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนนักโทษ ไม่ปรากฏการทำร้ายร่างกายและได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลตามคำร้องขอของญาติ แพทย์เจ้าของไข้ได้วางแผนการรักษาด้วยความใส่ใจดังเห็นได้จากการตรวจเยี่ยมแม้ในวันหยุด การสั่งยาขับปัสสาวะของแพทย์ตลอดจนการกู้ชีพซึ่งกระทำโดยแพทย์มิได้ร่วมอยู่ด้วยแต่ก็มีการรายงานเป็นระยะ ยังไม่เพียงพอที่จะเห็นตามที่ญาติผู้เสียชีวิตกล่าวอ้างว่าการเสียชีวิตเกิดจากการละเลยและประมาทของเจ้าหน้าที่
อ่านรายละเอียดของคดีทั้งหมดได้ที่ : https://freedom.ilaw.or.th/th/case/21
Be the first to comment