ดิ่น ท่าราบ คือใคร? พร้อมประวัติของพระยาศรีสิทธิสงคราม ที่มาของชื่อ “สะพานท่าราบ” #ท่าราบ #สะพานท่าราบ

หลังจากที่มีข่าวมีป้ายอะคริลิกข้อความ “สะพานท่าราบ” ติดทับชื่อสะพานพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นชื่อเดิม บนถนนประชาราษฎร์สาย 1 โดยไม่รู้เป็นฝีมือใคร หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงต้องชื่อสะพานท่าราบ และคำว่า “ท่าราบ”นั้นมีที่มาอย่างไร? วันนี้ Zcooby หาคำตอบมาให้ทราบครับ

ที่มาของคำว่า “ท่าราบ”

“ท่าราบ” เป็นนามสกุลของพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ผู้เป็นนายทหารคนสำคัญของฝ่ายกบฎที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เขาถูกยิงเสียชีวิตโดยกองทัพฝ่ายรัฐบาลที่จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2476 นอกจากนี้ เขายังมีศักดิ์เป็นตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีอีกด้วย


ดิ่น ท่าราบ คือใคร?

ดิ่น ท่าราบ เป็นชื่อของ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นนายทหารบกชาวไทย มีบทบาทสำคัญในฐานะแม่ทัพหน่วยล่วงหน้าและหน่วยระวังหลังของฝ่ายกบฏในเหตุการณ์กบฏบวรเดช

โดย ดิ่น เป็นชื่อเล่น และ ท่าราบ เป็นบ้านเกิดของพระยาศรีสิทธิสงคราม ที่ตำบลท่าราบ จังหวัดเพชรบุรี


ประวัติของ ดิ่น ท่าราบ

ชื่อจริง : พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม

ชื่ออื่น : ดิ่น ท่าราบ

เกิด :10 พฤษภาคม พ.ศ. 2434

เสียชีวิต : 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476

อายุ : 42 ปี

ครอบครัว : สมรสกับคุณหญิงศรีสิทธิสงคราม (ตลับ ท่าราบ – นามสกุลเดิม อ่ำสำราญ) มีบุตรธิดาทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นางอัมโภช จุลานนท์ (มารดาของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์), แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ, นางอารีพันธ์ ประยูรโภคราช และนายชัยสิทธิ์ ท่าราบ


พระยาศรีสิทธิสงคราม ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พระยาศรีสิทธิสงคราม มีนามเดิมว่า ดิ่น ท่าราบ เกิดที่ตำบลท่าราบ จังหวัดเพชรบุรี ในครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดิ่นเป็นคนเรียนเก่ง สอบเข้านายร้อยทหารบก และจบการศึกษาได้ที่ 1 จึงได้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อที่จักรวรรดิเยอรมันรุ่นเดียวกับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ทั้งสามคนเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยในเมืองพ็อทซ์ดัมเป็นเวลาหนึ่งปี และเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยปรัสเซียในกรุงเบอร์ลิน ในช่วงนี้ทั้งสามคนสนิทสนมกันมากจนได้รับฉายาจากพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ว่าเป็น “สามทหารเสือ” เช่นเดียวกับสามทหารเสือในนวนิยายของอาแล็กซ็องดร์ ดูว์มา

ระหว่างที่อยู่ทวีปยุโรปนี้ ประยูร ภมรมนตรี เริ่มเป็นตัวกลางชักชวนบุคคลต่างๆให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประยูรใช้เวลาตามจีบพระยาศรีสิทธิสงครามกว่าปีเศษจึงยอมร่วมมือ แต่มีเงื่อนไขว่าขอดูตัวผู้ที่จะเป็นหัวหน้าคณะก่อการเสียก่อน แต่เมื่อทราบผู้นำการก่อการคือสองเพื่อนสนิทของตน ดิ่นจึงขอถอนตัวโดยรับปากว่าจะไม่เอาความลับไปแพร่งพราย และจะติดตามดูอยู่จากวงนอกเท่านั้น

ดิ่นอยู่ที่ยุโรปประมาณสิบปีแล้วจึงเดินทางกลับสยามและได้รับยศร้อยตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2457 และมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ตามลำดับ จนได้รับยศเป็นพันเอก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ขณะอายุได้ 37 ปี แรกเป็นนายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าแผนกที่ 2 กรมเสนาธิการทหารบกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2473 และดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน พระศรีสิทธิสงครามได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ขณะอายุได้ 40 ปี พระยาศรีสิทธิสงครามเคยออกความเห็นว่าระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่เหมาะสมแก่ยุคสมัย สมควรเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรง


พระยาศรีสิทธิสงคราม ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลพลพยุหเสนาชักชวนพระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมคณะราษฎร แต่พระยาศรีสิทธิฯก็ปฏิเสธไปเนื่องจากไม่ชอบวิธีการรุนแรงที่คณะราษฎรใช้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชไม่พอใจจึงสั่งย้ายพระยาศรีสิทธิฯไปประจำกระทรวงธรรมการ นัยว่าเป็นการลงโทษ

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลฯกับพระยาทรงฯทะเลาะกันเรื่องงานจนวังปารุสก์แทบแตก พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ปรึกษากันแล้วเห็นว่าถ้ารับราชการแล้วต้องมาทะเลาะกันแบบนี้ก็ลาออกดีกว่า ทั้งสามพระยาจึงลาออก ส่งผลให้พระยาพหลฯต้องลาออกตามเพื่อรักษามารยาท นั่นทำให้ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลและกองทัพที่เคยเป็นของสี่เสือคณะราษฎรว่างลงทั้งหมด

นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาปรึกษากับพันโทหลวงพิบูลสงคราม ได้ข้อสรุปว่าจะให้พันโทประยูรไปเชิญพลตรีพระยาพิไชยสงครามมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก, เชิญพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามมาเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วนตัวหลวงพิบูลจะขอเป็นเพียงผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พระยาพหลฯไม่คัดค้านจึงเป็นอันตกลงกันได้ ในที่สุดก็มีพระบรมราชานุญาติให้สี่ทหารเสือลาออกในวันที่ 18 มิถุนายน และจะมีผลในวันที่ 24 มิถุนายน ระหว่างนี้ให้บุคลลที่จะได้รับแต่งตั้งรักษาราชการในตำแหน่งที่ว่างลงไปพลางก่อน

เมื่อกลับสู่กองทัพ พระยาศรีสิทธิสงครามเตรียมโยกย้ายนายทหารสายคณะราษฎรทั้งหมดออกจากตำแหน่งคุมกำลังพล การข่าวเรื่องนี้หลุดไปถึงหลวงพิบูลสงคราม ทำให้ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลฯ หลวงพิบูลฯ และหลวงศุภชลาศัย ชิงก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา หลวงพิบูลบอกพันโทประยูรว่า “ประยูร จำเป็นต้องทำ ไม่มีทางเลี่ยง เพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อหักหลัง เตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้กุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนมือและถูกฆ่าตายในที่สุด” ประยูรได้เขียนบันทึกไว้ว่า “ต่อมาอีก 2-3 วัน ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามมาหาข้าพเจ้าที่บ้านบางซื่อ หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่าหลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก ท่านจะต้องกำจัด จะต้องฆ่าหลวงพิบูลสงคราม แต่จะต้องดูเหตุการณ์ไปก่อน ถ้าหลวงพิบูลล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินเมื่อใด ท่านเป็นลงมือเด็ดขาด…” พระยาศรีสิทธิสงครามถูกโอนย้ายไปสังกัดกระทรวงธรรมการตามเดิม


พระยาศรีสิทธิสงคราม กับเหตุการณ์ กบฏบวรเดช

ในเหตุการณ์กบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 พระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมด้วย มีฐานะเป็นแม่ทัพ รับหน้าที่เป็นกองระวังหลัง จนเมื่อทางฝ่ายกบฏเพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาล ในเวลาพลบค่ำของวันที่ 23 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระยาศรีสิทธิสงครามถูกยิงเสียชีวิตใกล้กับที่สถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี โดยหน่วยของว่าที่ร้อยตรีตุ๊ จารุเสถียร

จากนั้นร่างของพระยาศรีสิทธิสงครามได้ถูกส่งกลับกรุงเทพมหานคร โดยทำการฌาปนกิจอย่างเร่งด่วนที่วัดอภัยทายาราม หรือวัดมะกอก โดยที่ทางครอบครัวไม่ได้รับรู้มาก่อนเลย และกว่าจะได้อัฐิกลับคืนก็เป็นเวลาล่วงไป 3-4 ปีแล้ว อีกทั้งยังถูกคุกคามต่าง ๆ นานา ตลอดสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง


Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.