หัวลำโพง วันครบรอบ 103 ปีของสถานีรถไฟหัวลำโพง (25 มิถุนายน 2562)

หากพูดถึง “หัวลำโพง” เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักกันดี แต่คุณรู้หรือไม่ว่า วันนี้ (25 มิถุนายน 2562) หัวลำโพงมีอายุถึง 103 ปีแล้ว Zcooby จะขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานีรถไฟหัวลำโพงให้ทราบนะครับ

ประวัติของหัวลำโพง

สถานีนี้เริ่มสร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2453 โดยจุดเริ่มต้นจากการเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2450 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ทรงประทับใจในความงดงามของสถานีรถไฟแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และเมื่อก่อสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพง ได้สถาปนิกชาวอิตาเลียนคือ Mario Tamagno และ Annibale Rigotti เป็นผู้ออกแบบโครงสร้างสถานีหัวลำโพง

สถานีรถไฟหัวลำโพง สร้างเสร็จและเริ่มใช้งาน วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 สถานีรถไฟกรุงเทพ เดิมเป็นสถานีที่ให้บริการทั้งด้านการขนส่งสินค้า และขนส่งมวลชน ต่อมาการขยายตัวในด้านการโดยสารและขนส่งสินค้ามีมากขึ้น

แต่ด้วยพื้นที่อันจำกัดเพียง 120 ไร่ จึงทำให้ต้องย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปอยู่ที่ย่านสินค้าพหลโยธิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และทำการปรับปรุงสถานีรถไฟกรุงเทพให้เป็นสถานีรถไฟสำหรับบริการด้านขนส่ง มวลชนเพียงอย่างเดียว เพื่อสามารถรองรับผู้โดยสารจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ

ที่มาของคำว่า “หัวลำโพง”

คำว่า “หัวลำโพง” มักสันนิษฐานตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าตั้งชื่อตามชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ต้นลำโพง ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้ จึงเรียกว่า ทุ่งหัวลำโพง หรือ ทุ่งวัวลำพอง ซึ่งแต่เดิมคงเคยเป็นที่เลี้ยงวัวของแขก

และอีกแนวนึงมองว่า อาจจะเป็นคำผสมทั้งภาษาไทยกับภาษามลายู จากคำว่า ขัว ในภาษาไทย ซึ่งแปลว่า สะพาน กับคำว่า lampung ในภาษามลายู (ออกเสียง ลำพุง) แปลว่า ชั่วคราว, ลอย ขัวลำพุง จึงหมายถึง สะพานชั่วคราว (ทอดข้ามหรือลอยในลำน้ำ) กลายเป็นหัวลำโพง เพื่อสะดวกการออกเสียงของชาวไทยไปในที่สุด

เส้นทางรถไฟที่ออกจากหัวลำโพง

ทางรถไฟสายเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ปลายทาง สถานีรถไฟเชียงใหม่ ระยะทาง 751.42 กิโลเมตร

ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจะแยกออกเป็น 2 สาย ดังนี้

  • ปลายทางสถานีรถไฟอุบลราชธานี ระยะทาง 575.10 กิโลเมตร
  • ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย ระยะทาง 621.10 กิโลเมตร

ทางรถไฟสายตะวันออก ต้นทางสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราแล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ

  • ปลายทางสถานีรถไฟอรัญประเทศ ระยะทาง 254.50 กิโลเมตร
  • ปลายทางสถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง ระยะทาง 184.03 กิโลเมตร

ทางรถไฟสายใต้ ต้นทางสถานีกรุงเทพ และสถานีธนบุรีเมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ

  • ปลายทางสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ประเทศมาเลเซีย ระยะทาง 973.84 กิโลเมตร (นับถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์)
  • ปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ระยะทาง 1,142.99 กิโลเมตร

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.