“หม่อมลูกปลา” คือใคร? กับเรื่องราวที่ใครหลายคนอาจจะเกิดไม่ทัน!!

ในช่วงนี้หากใครหลายคนได้ข่าวเรื่อง “หม่อมลูกปลา” พ้นโทษจำคุกออกมาแล้ว คนรุ่นปัจจุบันอาจจะสงสัยว่า เธอคือใคร ทำไม่สื่อถึงให้ความสนใจกันมากมายเหลือเกิน วันนี้ Zcooby จะขอนำข้อมูลย้อนหลังไปเกือบ 20 ปี มาเล่าให้ฟังนะครับ

หม่อมลูกปลา คือใคร?

หม่อมลูกปลา ถือได้ว่าเป็นตำนานที่คนกล่าวขวัญกันว่าเป็น “ซินเดอเรลลาเมืองไทย” เธอมีชื่อจริงว่า ชลาศัย ขวัญฐิติ โดยมีชื่อเดิมว่า หม่อมชลาศัย ยุคล ณ อยุธยา (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น คูณมาศ ขวัญฐิติ และโชติกา ขวัญฐิติ) เป็นอดีตหม่อมใน หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล หรือ ท่านกบ

ในปี พ.ศ. 2538 เธอตกเป็นผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นผู้วางยาพิษในกาแฟจนเป็นเหตุให้หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ได้ถึงแก่ชีพิตักสัยอย่างกะทันหัน โดยเธอได้ต่อสู้คดีจนถึงชั้นศาลฎีกา จนศาลฎีกาได้พิพากษาในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ได้พิพากษาให้จำคุก ฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุถึงแก่ความตาย พิพากษาจำคุก 7 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 ปี 8 เดือน

ประวัติของหม่อมลูกปลา

หม่อมลูกปลา เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2515 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นลูกกำพร้า มีชื่อจริงแต่แรกเกิดว่า นิภาพร รอดอ่อน จนกระทั่งหม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล เจ้าน้องในหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ มาพบเข้าและได้นำตัวไปอุปการะที่วังอัศวินนับตั้งแต่นั้น ในฐานะของเด็กรับใช้ โดยให้ชื่อเล่นว่า “ลูกปลา”

จนกระทั่งเติบโตเป็นสาวรุ่น ชลาศัยดูแลบุตรทั้งสามของหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ด้วยความที่เป็นเด็กฉลาดและรู้ใจท่านกบไปเสียทุกอย่าง ท่านกบจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “ชลาศัย ขวัญฐิติ”

ซึ่งที่มาของนามสกุลของหม่อมลูกปลานั้น เป็นการนำมาจากสองคำในพระนามของท่านกบคือ “ฐิติ” รวมกันแล้วมีความหมายว่า “ที่รักของฐิติพันธุ์”

หม่อมลูกปลาได้ตกเป็นภรรยาลับ ๆ ของท่านกบตั้งแต่มีอายุได้เพียง 12 ปี

ในปี พ.ศ. 2537 หม่อมลูกปลาได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ และกลายมาเป็นที่รู้จักโดยทั่วของสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการพลิกชีวิต จนได้ถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “ซินเดอเรลลาเมืองไทย”

แต่สาเหตุแห่งการแต่งงานครั้งนี้หม่อมลูกปลาได้ออกมาพูดว่า “ท่านกบต้องการเอาชนะตนโดยไม่ให้ตนหนีเที่ยวอีก ส่วนตนก็เพื่อต้องการเอาชนะหม่อมคนอื่น ๆ ที่คอยว่าตน และการแต่งงานครั้งนี้ก็ไม่ได้มาจากความรักเลย”

ซึ่งจริงๆ แล้ว หม่อมลูกปลามีคนที่ตนรักอยู่แล้วก็คือ นายอุเทศ ชุปวา ซึ่งประกอบอาชีพขายเกาลัดที่เยาวราช หม่อมลูกปลาจึงได้หนีออกจากวังมาพบปะกับนายอุเทศอยู่บ่อยครั้ง….

คดีวางยาพิษในกาแฟท่านกบ

คดีนี้เริ่มต้นในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2538 เมื่อหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ได้ถึงแก่ชีพิตักสัยอย่างกะทันหัน จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่าหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ได้เสวยกาแฟที่มีการผสมยาฆ่าแมลงกลุ่มคาร์บอเมท

โดยในตอนนั้นหม่อมลูกปลาถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้วางยาพิษในกาแฟ โดยวางแผนสังหาร ร่วมกับนายอุเทศ ชุปวา โดยวันที่เกิดเหตุนั้นหม่อมลูกปลาอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ได้ปฏิเสธการรู้เห็นในเรื่องนี้ และนายอุเทศก็ได้ถูกจับในข้อหาบุกรุกเคหะสถานในยามวิกาลด้วย

ต่อมา เมื่อนายอุเทศ ได้รับอิสรภาพ หม่อมลูกปลาได้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันและเปลี่ยนนามสกุลเป็น ชุปวา ตามนามสกุลของนายอุเทศ ผู้เป็นสามี และย้ายไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 2 คน ประกอบอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวโดยค้าขายและขายส้มตำ ไก่ย่าง พร้อมกันด้วย ซึ่งในระหว่างนี้พนักงานอัยการนำคดียื่นฟ้องต่อศาล และได้ขอยื่นประกันตัวด้วยเงินสดจำนวน 400,000 บาท

ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำโดยมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย พิพากษาลงโทษจำคุก 9 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 6 ปี

ต่อมาได้มีการยื่นอุทธรณ์ไปที่ศาลอุทธรณ์ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2548

แต่ต่อมาในศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลสูงสุดได้พิพากษาในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ได้พิพากษากลับให้จำคุก ฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุถึงแก่ความตาย พิพากษาจำคุก 7 ปี แต่คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 ปี 8 เดือน

ปัจจุบัน หม่อมลูกปลาได้ใช้ชีวิตอยู่กับนายทวีชัย น้อยประเสริฐ ซึ่งเป็นสามีคนปัจจุบัน

 

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.