“สวัสดี” 22 มกราคม วันเฉลิมฉลองวลี “สวัสดี”

“สวัสดี” 22 มกราคม วันเฉลิมฉลองวลี “สวัสดี”

สวัสดี คืออะไร?

สวัสดี เป็นคำทักทายของคนไทย โดยจะใช้เมื่อแรกพบกัน หรือ เมื่อต้องการบอกลา โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “สวัสดี (สวัสดิ์) ” ว่าหมายถึง ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง และความปลอดภัย

ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี” คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยพิจารณามาจากศัพท์ “โสตฺถิ” ในภาษาบาลี หรือ “สวัสติ” ในภาษาสันสกฤต โดยได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม เป็นต้นมา

ที่มาของคำว่า สวัสดี

“สวัสดี” เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า “สุ” เป็นคำอุปสรรค (คำเติมหน้าศัพท์ที่ทำให้ความหมายของศัพท์เปลี่ยนแปลงไป) แปลว่า ดี งาม หรือ ง่าย และคำว่า “อสฺติ” เป็นคำกิริยาแปลว่า มี แผลงคำว่า “สุ” เป็น “สว” (สฺวะ) ได้โดยเอา “อุ” เป็น “โอ” เอา “โอ” เป็น “สฺว” ตามหลักไวยากรณ์ แล้วสนธิกับคำว่า “อสฺติ” เป็น “สวสฺติ” อ่านว่า สะ-วัด-ติ แปลว่า “ขอความดีความงามจงมี (แก่ท่าน) “

พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้ปรับเสียงของคำว่า “สวสฺติ” ที่ท่านได้สร้างสรรค์ขึ้นให้ง่ายต่อการออกเสียงของคนไทย จากคำสระเสียงสั้น (รัสสระ) ซึ่งเป็นคำตาย มาเป็นคำสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ซึ่งเป็นคำเป็น ทำให้ฟังไพเราะ รื่นหูกว่า จึงกลายเป็น “สวัสดี” ใช้เป็นคำทักทายที่ไพเราะและสื่อความหมายดี ๆ ต่อกันของคนไทย

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.