ซิฟิลิส (Syphilis) คือโรคอะไร? สามารถติดต่อได้แม้ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์หรือไม่?

ถ้าพูดถึงคำว่า “ซิฟิลิส” หลายคนอาจจะนึกถึงว่า เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นอันดับแรก จึงทำให้หลายคนสงสัยว่า ซิฟิลิส เป็นโรคอะไร? มีลักษณะอาการอย่างไร? และที่สำคัญ สามารถเป็นโรคนี้

ซิฟิลิส (Syphilis) คือโรคอะไร?

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ที่สามารถแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางการสัมผัสผู้มีเชื้อ ทั้งการจูบ การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสแผล การรับเลือดมาจากผู้ติดเชื้อ หรือการสัมผัสเข็มที่ติดเชื้อ

ซิฟิลิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้นใช่หรือไม่?

แม้ว่าการติดเชื้อจะมีหลากหลายช่องทาง มิใช่เพียงแค่ทางเพศสัมพันธ์ แต่โดยสถิติพบว่า เกือบทั้งหมดที่เป็นโรคซิฟิลิสนั้น มีสาเหตุมาจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์

สาเหตุของการติดเชื้อที่พบบ่อยได้ที่สุด คือ การได้รับเชื้อโดยตรงผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็กๆ บนผิวหนัง รวมไปถึงบริเวณเยื่อบุต่างๆ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นแผลและมีเชื้ออยู่ นอกจากนี้เชื้อซิฟิลิสยังสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรได้อีกด้วย


อาการของโรคซิฟิลิส

การติดเชื้อซิฟิลิสจะมีการดำเนินของโรคแบ่งเป็น 4 ระยะ และแต่ละระยะมีอาการที่แตกต่างกันไปดังนี้

โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Stage) – ในระยะนี้การดำเนินโรคอาจกินระยะเวลานานหลายปีหลังจากได้รับเชื้อ และจะเป็นระยะที่ไม่ปรากฎอาการใดๆ ที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อซิฟิลิสเลย

การเจาะเลือดไปตรวจจึงเป็นทางเดียวที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่า เกิดการติดเชื้อซิฟิลิสหรือไม่ และหากสตรีที่มีเชื้อซิฟิลิสในระยะแฝงเกิดการตั้งครรภ์ ก็อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อได้


โรคซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง (Primary Syphilis) – ในระยะแรกจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการมีแผลเล็กๆ ที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ในเพศชายแผลริมแข็งมักจะเกิดขึ้นในบริเวณปลายหรือลำอวัยวะเพศ

ในกรณีของผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแผลซุกซ่อนอยู่ภายในบริเวณช่องคลอด หรือทวารหนัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่แสดงอาการปวดและสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้ไม่ได้ทำการรักษาใดๆ ก็ตาม


โรคซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary Syphilis) – จะปรากฎอาการสำคัญ คือ มีผื่นสีแดงน้ำตาลขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และผื่นอาจกระจายไปทั่วร่างกายโดยที่ไม่เกิดอาการคัน นอกจากนี้ยังอาจพบผื่นสีเทาในปาก คอ และปากมดลูก

รวมไปถึงอาจพบหูด (Condylomata Lata) ในบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ทวารหนัก และขาหนีบ รวมถึงอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ ไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต และผมร่วง โดยอาการต่างๆ เหล่านี้จะสามารถหายไปเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้เช่นเดียวกัน


โรคซิฟิลิสระยะสาม (Tertiary Syphilis) – ผู้ติดเชื้อประมาณ 15-30% จากผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ทำการรักษาทั้งหมดจะมีการดำเนินโรคต่อเนื่องไปสู่ระยะสาม ซึ่งเชื้อโรคจะเกิดการพัฒนาจนส่งผลต่ออวัยวะสำคัญ ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสมอง ระบบประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด ตับ หรือกระดูกและข้อต่อ

ซึ่งถ้าหากรักษาไม่ทันก็จะทำให้อวัยวะต่างๆ ถูกทำลายจนไม่สามารถกลับมาใช้งานอย่างเป็นปกติได้ สำหรับทารกในครรภ์ที่ได้รับเชื้อจากมารดาก็อาจเกิดความผิดปกติต่อร่างกาย พิการ รวมไปถึงการเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้


การตรวจและยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิส

การตรวจและยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิสสามารถทำได้โดยการใช้วิธีเจาะเลือดหาแอนติบอดี (Antibody) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมา โดยแอนติบอดีต่อเชื้อซิฟิลิสนั้นจะคงอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานานหลายปี ทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อในอดีตได้ด้วย

นอกจากนี้หากเกิดการติดเชื้อซิฟิลิสในระยะต้นและระยะที่สอง แพทย์อาจทำการเก็บตัวอย่างเซลล์จากบริเวณบาดแผลหรือบริเวณผื่นเพื่อนำไปทำการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าหากมีการติดเชื้อโรคซิฟิลิสในระยะที่สามและเกิดอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท แพทย์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป


การรักษาผู้ติดเชื้อซิฟิลิส

ในผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคซิฟิลิสและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยที่ไม่เกิดผลแทรกซ้อนในระยะยาว โดยวิธีรักษาโรคซิฟิลิสทำได้โดยการใช้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าหากพบว่าผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ก็จะสามารถรักษาและหยุดการลุกลามของโรคได้เพียงแค่ฉีดยาเพนิซิลลิน 1 เข็มเท่านั้น


Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.