ไวรัสมาร์บวร์ก คืออะไร? รู้จักโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (อาการ,การรักษา และการป้องกัน) #ไวรัสมาร์บวร์ก #MarburgVirus

ชื่อของ ไวรัสมาร์บวร์ก กำลังถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในช่วงนี้ หลังจากที่มีการแพร่ระบาดในอิเควทอเรียลกินี แอฟริกากลาง ซึ่งพบว่า มีอัตราการตายสูงสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ และมีการติดต่อทางเลือดและอุจจาระ เหมือนอีโบล่า และที่สำคัญยังไม่มีวัคซีนหรือยาต้านไวรัส ต้องเป็นรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ทำให้หลายคนกังวลใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสตัวนี้ ทาง Zcooby ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ให้ทราบครับ

ไวรัสมาร์บวร์ก

ไวรัสมาร์บวร์ก คืออะไร?

ไวรัสมาร์บวร์ก หรือ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus disease)เป็นไวรัสในสกุลเดียวกับไวรัสอีโบลา คือ Filoviridae ถือเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เนื่องจากผู้ติดเชื้อจะมีอัตราการป่วยเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 88 โดยในประเทศไทยได้กำหนดให้ไวรัสมาร์บวร์กเป็น 1 ใน 13 โรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

ความเป็นมาของไวรัสมาร์บวร์ก

ไวรัสมาร์บวร์ก ถูกพบครั้งแรกที่เมืองมาร์บวร์ก ประเทศเยอรมนี ในปี 2510 จากนั้นได้เกิดการระบาดในเมืองแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนี ตามด้วยกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย อย่างต่อเนื่องภายในปีเดียว ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 31 ราย และเสียชีวิต 7 ศพ โดยที่มาของการระบาดของไวรัสมาร์บวร์กเกิดจากลิงเขียวแอฟริกา (African green monkeys) ที่นำเข้าจากประเทศยูกันดา และจากนั้นเชื้อไวรัสมาร์บวร์กได้เริ่มติดต่อผ่านสัตว์ชนิดอื่นๆ ต่อเนื่องกันมา


สถานกาณ์ปัจจุบันของไวรัสมาร์บวร์ก (20 กุมภาพันธ์ 2566)

พบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ในประเทศอิเควทอเรียลกินี ทวีปแอฟริกาตะวันตก โดยมีผู้เสียชีวิต 9 รายจากการติดเชื้อนี้ และยังมีผู้ป่วยต้องสงสัยอีก 16 ราย

โดยทั้งผู้ป่วยที่เสียชีวิตและผู้ป่วยสงสัยต่างเริ่มต้นจากอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือด และท้องเสีย

ทางองค์การอนามัยโลกได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปสอบสวนโรคในเขตพื้นที่และบริหารสถานการณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง


ไวรัสมาร์บวร์กติดต่อได้จากช่องทางใด?

  • ติดต่อได้ทางเลือดและอุจจาระ
  • การสัมผัสโดยตรงกับเลือดและสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ
  • การสัมผัสเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัสดุต่างๆ

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก

อาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เริ่มจากหลังเชื้อฟักตัวอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2-21 วัน โดยมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้สูง
  • หนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • มีผื่นนูนแดงบริเวณหน้าอก หลัง และท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เจ็บหน้าอก
  • เจ็บคอ
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสียรุนแรง

โดยอาการข้างต้นนี้จะเกิดขึ้นภายใน 7 วัน และหากผ่าน 7 วันไปแล้วโรคนี้อาจพัฒนาไปสู่ระยะเลือดออกและเป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งโดยปกติแล้วเกิดจากเลือดออก และมักเกิดเลือดออกจากหลายตำแหน่งในร่างกาย

ผู้ป่วยโรคไวรัสมาร์บวร์กมักจะเสียชีวิตในช่วงระหว่าง 8-9 วัน หลังเริ่มมีอาการ โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากและเกิดภาวะช็อก


การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะสำหรับโรคไวรัสมาร์บวร์ก ณ ตอนนี้ การรักษาผู้ป่วยโรคนี้จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง และเป็นการรักษาตามอาการป่วย


การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การป้องกันที่ทำได้ในตอนนี้ก็คือ แยกผู้ป่วยสงสัยจากผู้ป่วยอื่นๆ และเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิด


สถานการณ์ไวรัสมาร์บวร์กในประเทศไทย (20 กุมภาพันธ์ 2566)

แม้ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก แต่ปัจจุบันมีการเดินทางจากประเทศต่างๆ มายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรคจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

และขณะนี้ยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทาง แต่เน้นมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศอิเควทอเรียลกินี และประเทศใกล้เคียง และมีการเพิ่มระดับการเตรียมความพร้อมระบบการเฝ้าระวังและคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทุกแห่ง ตลอดจนแจ้งสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศหากพบผู้ป่วยสงสัยให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการและรายงานผู้ป่วยที่สงสัยภายใน 3 ชั่วโมง


กรณีพบผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ควรทำเช่นไร?

หากประชาชนพบผู้ที่สงสัยโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422.


Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.