เปมิกา คือใคร? ย้อนรอยคดี”เปมิกา”ฉ้อโกงหมอประกิตเผ่า

หลังจากที่มีข่าวว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ทางศาลอาญาได้ออกหมายจับ “เปมิกา” และพวกอีก 2 คน หลังไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีฉ้อโกง นายแพทย์ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ชื่อของเปมิกา อาจจะเป็นที่หลงลืมไปในสังคม หลายคนอาจจะสงสัยว่าเธอคือใคร และคดีฉ้อโกงหมอเผ่าเป็นอย่างไร วันนี้ Zcooby ขอมาย้อนรอยคดีฉ้อโกงหมอเผ่าให้ทราบกันนะครับ

เปมิกา คือใคร?

เปมิกา วีรชัชรัก หรือ น้องเป เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง “หมอเผ่า” หรือ  นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ เจ้าของสถาบันกวดวิชาชื่อดัง “แอพพลายฟิสิกส์” โดยมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องไสยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศัลยกรรม ความเชื่อ และชั้นเชิงทางจิตวิทยา จนทำให้หมอเผ่าหลงเชื่อ และสูญเสียทรัพย์สินมูลค่าเกือบ 10 ล้านบาท โดยเปมิกามีการเปลี่ยนชื่อและทำศัลยกรรมหลายครั้ง ซึ่งทำให้ญาติของหมอเผ่าเชื่อว่า ทำไปเพื่อคอยหลบเลี่ยงเมื่อกระทำความผิด

โดยเมื่อคดีถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลก็มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน ในปี 2553 และปัจจุบัน เมื่อคดีถึงศาลฎีกา ทางเปมิกา ไม่มาฟังคำพิพากษา ทางศาลอาญาจึงออกหมายจับ “เปมิกา วีรชัชรัก” กับพวก รวม 2 คน เบี้ยวฟังฎีกา คดีฉ้อโกง “หมอประกิตเผ่า”

เปมิกา

ย้อนรอยคดี เปมิกา และ หมอประกิตเผ่า

จุดเริ่มต้นย้อนกลับไปที่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 “เปมิกา” ได้เดินทางเข้าแจ้งความที่ สน.บางซื่อ อ้างว่าได้รับโทรศัพท์จาก “หมอเผ่า” ให้เข้าไปช่วยเหลือที่โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยอ้างว่าถูกครอบครัว “ทมทิตชงค์” นำมากักขัง

โดยเปมิกาได้กุเรื่องว่า สาเหตุที่หมอเผ่าถูกนำมากักเพราะเป็นผู้ต้องสงสัยฆ่าภรรยาตัวเอง (นางอลิสา ทมทิตชงค์ ทั้งที่จริงยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีบุตรด้วยกัน 2 คน) และทางพี่ชายต้องการช่วยเหลือ จึงนำมากักขังไว้ใน รพ.ดังกล่าว แต่คำร้องของเธอก็ไร้ความหมาย เพราะ แพทย์ระบุว่า “หมอเผ่า” มีอาการจิตไม่ปกติจริง

 

ต่อทางแพทย์ รพ.ศรีธัญญา ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้พบสาร “อีเฟดรีน” ในร่างกายของหมอเผ่า มีปริมาณมากกว่า 200 เท่า ซึ่งสารดังกล่าวมีผลกระทบต่อจิตประสาทและเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติด เช่น ยาบ้า และ ยาอี ด้วย หลังการแถลงของแพทย์ จึงเกิดคำถามขึ้นทันทีว่าสารดังกล่าว เข้าไปในร่างกายหมอเผ่าได้อย่างไร

ทางครอบครัวของหมอเผ่าจึงได้เข้าแจ้งความเอาผิดกับเปมิกา ฐานฉ้อโกงทรัพย์ เนื่องจากทราบว่าหลังจากหมอเผ่าเริ่มคบหากับเปมิกาแล้วมีทรัพย์สินอู้ฟู้แบบผิดหูผิดตา อีกทั้งเงินหมอเผ่าหายไปกว่า 10 ล้านบาท

หลังมีการแจ้งความ มีการตรวจซ้ำหลายครั้ง ผลปรากฏว่า สารในร่างกาย “หมอเผ่า” ไม่ใช่ “อีเฟดรีน” แต่เป็น“ซูโดอีเฟดรีน” ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในยาแก้ไอ

มีการเปิดเผยว่า “เปมิกา” ได้เคยเปลี่ยนชื่อและนามสกุลหลายครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนหลายครั้งดังกล่าว อาจจะส่อไปในเจตนาไม่บริสุทธิ์ ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า

  • ชื่อเดิมชื่อ “ศิวพร เหลืองเรณูกุล” ชื่อเล่น อุ๋ย
  • วันที่ 21 ม.ค. 46 เปลี่ยนชื่อเป็น “ชิศา”
  • วันที่ 11 มี.ค. 46 เปลี่ยนจาก ชิศา กลับมาใช้ “ศิวพร” ตามเดิม
  • วันที่ 26 ต.ค. 49 เปลี่ยนชื่อและนามสกุลอีกครั้ง จาก “ศิวพร เหลืองเรณูกุล” เป็น “เปมิกา วีรชัชรักษิต”

นอกจากนี้ ยังมีกระแสโจมตี “เปมิกา” ในเรื่องส่วนตัวด้วย โดยมีการปล่อยภาพสมัยก่อน กับ ปัจจุบัน ที่มีความแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า “น้องเป” ไปทำศัลยกรรม

ทุกอย่างก็เริ่มกระจ่างชัดขึ้น หลังจาก นพ.ประกิตเผ่า ในวัย 36 ปี (ขณะนั้น) รักษาตัวนาน 3 เดือน และเมื่ออาการเริ่มดีขึ้นก็ส่งทนายร้องกองปราบกล่าวหา “เปมิกา” ในข้อหาฉ้อโกง โดยทางทนายความระบุว่า “พฤติการณ์และเหตุการณ์ที่ น.ส.เปมิกา ทำกับ นพ.ประกิตเผ่า เกิดขึ้นระหว่างช่วงเดือนตุลาคม 2549 ถึง 19 ก.พ.2550 น.ส.เปมิกาได้สมคบกับเพื่อนอีก 5 คนใช้อุบายหลอกลวงทำให้หลงเชื่อว่าสามารถนั่งสมาธิจนเข้าฌานชั้นสูงจนสามารถระลึกชาติได้ นอกจากนี้ ครอบครัว “ทมทิตชงค์” เชื่อว่า น.ส.เปมิกา ใช้สารบางอย่างทำให้ นพ.ประกิตเผ่า มีอาการจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบจนสามารถหลอกลวงทรัพยส์สินไปได้หลายรายการ ทั้งบ้าน รถ”

ทนายยังเผยอีกว่า “จากการพูดคุยกับ นพ.ประกิตเผ่า ที่มีสติสัมปชัญญะดี เล่าให้ฟังว่า หลังเริ่มสนิทสนม น.ส.เปมิกา ก็มีการกล่าวอ้างจนหลงเชื่อว่าเป็นสามีภรรยากับ น.ส.เปมิกา แต่ชาติปางก่อนย้อนหลังไป 99 ภพชาติ และเคยรับปากในชาติภพก่อน แล้วไม่ได้ทำให้ ก็ให้ทำให้ในชาตินี้

และทางทนายความแจกแจงต่อว่า น.ส.เปมิกา ล่อลวงให้หมอเผ่าซื้อรถโตโยต้า คัมรี สีดำให้ โดยอ้างว่า ชาติที่แล้ว หมดเผ่าเป็นขุนศึกใช้ม้านิลพยัคฆ์เป็นพาหนะในการรบ ส่วนเปมิกา ใช้ม้านิลมังกร นอกจากนี้ ยังมีการใช้กลอุบายในลักษณะเดียวกันในการล่อลวง

ท้ายที่สุด วันที่ 20 ธ.ค.50 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ก็ได้ส่งฟ้อง น.ส.เปมิกา และเพื่อนอีก 3 คน เป็นจำเลยที่ 1-4 ต่อศาลอาญา ซึ่งอัยการมีความเห็นให้สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดผิดฐาน ฉ้อโกงทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยอาศัยความอ่อนแอทางจิตของเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งจำเลยทั้งหมดแถลงให้การปฏิเสธ ซึ่งจำเลยทั้ง 4 ได้ใช้หลักทรัพย์ 3 ล้านบาทประกันตัวสู้คดี

กระทั่งวันที่ 26 ต.ค.53 ศาลอ่านคำพิพากษา สรุปความว่า โจทก์มี นพ.ประกิตเผ่า ผู้เสียหายที่ 1 นางอลิสา ทมทิตชงค์ ภรรยาเป็นผู้เสียหายที่ 2 รศ.เพลินจิต มารดา และ นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ พี่ชาย เบิกความเป็นพยานโจทก์ทำนองเดียวกันว่า นางอลิสาเห็นพฤติกรรมของ นพ.ประกิตเผ่า เปลี่ยนแปลงไปหลังรู้จัก น.ส.เปมิกา ที่อ้างว่ามีความสามารถถอดจิตได้ จน นพ.ประกิตเผ่า เริ่มหมกมุ่นกับการนั่งสมาธิและหวาดระแวงว่านางอลิสาภรรยาจะทำร้ายด้วยไสยศาสตร์ รศ.เพลินจิต และ นพ.ประกิตพันธุ์ จึงนำตัว นพ.ประกิตเผ่า ไปรักษาตัวที่ รพ.ศรีธัญญา
นอกจากนี้ แพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เบิกความเป็นพยานว่า ได้รับตัว นพ.ประกิตเผ่า มารักษาเมื่อวันที่ 2 มี.ค.50 จากการตรวจวินิจฉัยทางจิตพบว่า นพ.ประกิตเผ่า มีอาการทางจิตหลงผิดเข้าใจว่าตัวเองเป็นทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรฯ และถูกนางอลิสาภรรยาทำไสยศาสตร์ใส่ จากการวิเคราะห์เห็นว่า ป่วยเป็นโรคอารมณ์ 2 ขั้ว เกิดจากกระตุ้นจากภายนอกทำให้ใช้จ่ายมากขึ้น เมื่อรักษาถึงวันที่ 30 พ.ค.50 อาการดีขึ้นจดจำเหตุการณ์ได้ จึงทราบเรื่องว่าทำไปเพราะถูกหลอกลวง ศาลเชื่อว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นผลด้านลบ หากไม่มีอาการดังกล่าวจริงพยานทุกปากคงไม่เบิกความให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อีกทั้งพยานที่เป็นแพทย์ที่ศาลสั่งให้ตรวจรักษาไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสี่มาก่อน พยานทุกปากเบิกความไปตามที่รู้เห็น

พยานโจทก์ ระบุทำนองเดียวกันด้วยว่า จำเลยทั้งสี่ยังสร้างเหตุการณ์ให้ นพ.ประกิตเผ่า เชื่อว่า น.ส.เปมิกา มีอำนาจพิเศษระลึกชาติและเป็นสามีภรรยากันมา 99 ภพชาติ ทำให้หลงเชื่อเพื่อง่ายต่อการหลอกลวงเอาทรัพย์สินไป 10 รายการ โดยอ้างว่าหากไม่มอบให้จะติดค้างกันไปจนไม่สามารถบรรลุอรหันต์ได้

ขณะที่จำเลยทั้งสี่ปฏิเสธว่า นพ.ประกิตเผ่า มอบทรัพย์สินให้ น.ส.เปมิกา ด้วยความเสน่หาฉันชู้สาวเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จำเลยไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้ศาลเห็น เชื่อว่าที่ นพ.ประกิตเผ่า ยอมซื้อสิ่งของให้เป็นเพราะถูกหลอกลวงมากกว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวอย่างแท้จริง เห็นว่าจำเลยทั้งสี่มีการศึกษาระดับสูง มีพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี คำเบิกความของพยานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงด้วยข้อความอันเป็นเท็จให้ นพ.ประกิตเผ่า หลงเชื่อ

ซึ่งศาลพิพากษา ให้ น.ส.เปมิกา มีความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ และพยายามฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 30 ลงโทษจำคุกฐานฉ้อโกง 7 กระทง กระทงละ 6 เดือน ฐานพยายามฉ้อโกง 3 กระทง กระทงละ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 54 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนฉ้อโกง 7 กระทง กระทงละ 4 เดือน ปรับกระทงละ 3,000 บาท และสนับสนุนให้พยายามฉ้อโกง 3 กระทง กระทงละ 2 เดือน 20 วัน ปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2, 3 และ 4 เป็นเวลา 34 เดือน 60 วัน ปรับ 27,000 บาท เห็นว่าจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ประกอบอาชีพมั่นคง ไม่เคยรับโทษทางอาญามาก่อนและเป็นเพียงผู้สนับสนุน โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหาย 8,035,378 บาท

ทั้งนี้ ส่วนทรัพย์สินที่ได้ไป ประกอบด้วย รถโตโยต้า คัมรี พร้อมแผ่นป้ายทะเบียนสวย รวม 1,569,000 บาท นาฬิกาโรเล็กซ์ 245,000 บาท แหวนเพชรขนาด 70 สตางค์ 145,000 บาท ปืน 2 กระบอก 130,000 บาท ค่าเช่าห้องพักโนเบิลไลฟ์ 150,000 บาท เงินมัดจำจองบ้าน “ปริญญาดา” 250,000 บาท และซื้อเช็คเงินสดให้ น.ส.เปมิกา 1 จำนวน 4,566,000 บาท รวม 8,035,378 บาท

หลังศาลชั้นต้นตัดสิน น.ส.เปมิกา ได้ใช้หลักทรัพย์ เป็นที่ดินย่านพญาไท ประกันตัวออกไป กระทั่ง ล่าสุด วันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น หลังจากรู้ผล ญาติได้ยื่นหลักทรัพย์ เป็นโฉนดที่ดินย่านบางซื่อเนื้อที่ 59 ตารางวา ราคาประเมิน 3,245,000 บาท พร้อมคำร้องประกอบการพิจารณาทำนองว่า น.ส.เปมิกา ยังมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรเล็ก ๆ อีก 3 คน โดยจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูเอง หากจำเลยต้องถูกคุมขัง เกรงว่าจะทำให้ลูกทั้งสามได้รับความเดือดร้อน จึงขอความเมตตา ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างฎีกาด้วย

 

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.