อภัยโทษ,นิรโทษกรรม คืออะไร? ความแตกต่างของ”อภัยโทษ”และ”นิรโทษกรรม”

ในช่วงนี้หากพูดถึงเรื่องการปรองดอง เรามักจะได้ยินคำสองคำอยู่บ่อยๆ ก็คือคำว่า “อภัยโทษ” และ “นิรโทษกรรม” หลายคนอาจจะสงสัยว่า มันคืออะไร? มีความแตกต่างระหว่างสองคำนี้อย่างไร? Zcooby เลยอยากหาข้อมูลเรื่องนี้มาแบ่งปันกันนะครับ

อภัยโทษ คืออะไร?

การพระราชทานอภัยโทษ ( Pardon or Grace ) คือ “การยกเว้นโทษ” ให้ทั้งหมด หรือบางส่วน หรือลดหย่อนผ่อนโทษลงไปแก่นักโทษผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้รับโทษนั้น โดยยังถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดและเคยต้องคำพิพากษา

การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ (ผ่านทางศาล) โดยการขออภัยโทษนั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีผู้ร้องขอหรือถวายเรื่องต่อพระมหากษัตริย์ และใช้เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดแล้วเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษนั้นไม่ต้องรับโทษอีกเลยหรือลดโทษให้มีการรับโทษแต่เพียงบางส่วน

ทั้งนี้ผลของการพระราชทานอภัยโทษนั้นหาทำให้สิทธิต่างๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพราะคำพิพากษากลับคืนมาไม่

การนิรโทษกรรม คืออะไร?

การนิรโทษกรรม ( Amnesty ) คือ การที่กฎหมายไม่ถือว่าการกระทำบางอย่างเป็นความผิด และโทษซึ่งเป็นผลสำหรับการนั้นไม่จำเป็นต้องถูกนำมาบังคับใช้ ซึ่งตามปกติการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด หรือเป็นการยกโทษให้ทั้งหมด ทั้งถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้เคยต้องโทษนั้นมาเลย คือให้ลืมความผิดนั้นเสีย

ผลของการนิรโทษกรรมนั้นมุ่งโดยตรงไปที่การกระทำผิดนั้นเอง ซึ่งถือว่าไม่เป็นการผิดกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ความผิดซึ่งจะตกไปยังตัวบุคคลผู้กระทำความผิดนั้นย่อมต้องถูกลบล้างตามไปด้วย

นิรโทษกรรมนั้นเป็นการกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติคือ รัฐสภา จะต้องออกเป็น “พระราชบัญญัติ” ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อการนิรโทษกรรมเป็นการถือเสมือนหนึ่งว่า ผู้กระทำความผิดนั้นๆ มิได้กระทำความผิดเลย ก็เท่ากับเป็นการลบล้างกฎหมายฉบับก่อนๆ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง (Non-Retroactive) แต่เป็นการย้อนหลังที่ให้คุณแก่ผู้กระทำความผิดจึงสามารถบังคับใช้ได้

นิรโทษกรรมกับการอภัยโทษแตกต่างกันอย่างไร?

1) ในด้านอำนาจของการดำเนินการ

การอภัยโทษ – เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะพระราชทานให้แก่นักโทษที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่

นิรโทษกรรม – เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ที่จะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นมาประกาศบังคับใช้

2) ในด้านกฎเกณฑ์การดำเนินการ

การพระราชทานอภัยโทษ จะต้องมีผู้ถวายฎีกา มีลำดับขั้นตอนโดย > เริ่มประมวลเรื่องราวจากเรือนจำที่คุมขังนักโทษอยู่ตามกฎระเบียบต่างๆ > ผ่านไปสู่การพิจารณาของกรมราชทัณฑ์ > เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาถวายความเห็นประกอบพระบรมราชวินิจฉัย

ส่วนการนิรโทษกรรม จะเริ่มต้นที่ > ต้องมีการตราพระราชบัญญัติตามขั้นตอนของการออกกฎหมายที่ยังไม่เคยปรากฏว่ามีการนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี (เพราะฝ่ายนิติบัญญัติก็จะไม่ไปก้าวก่ายกับการดำเนินการตามกฎหมายของผู้มีอำนาจฝ่ายอื่น)

หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้คุณเข้าใจคำว่า “อภัยโทษ” และ “นิรโทษกรรม” ได้ดีขึ้นนะครับ

 

Be the first to comment

Leave a comment

Your email address will not be published.


*


This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.